ประสบการณ์ตัวต่อตัวกับ ELSA (1)

เอาหล่ะค่ะ มาถึงคิวของ myPTEjourney ที่จะมารีวิวหลังจากทดลองใช้แอปฯนี้กันบ้าง หลังจากได้ทราบความเป็นมาและดูรีวิว  ELSA บน YouTube มาแล้ว

หลังจากทำงานติดตั้งแอปฯ ELSA ลงเครื่องแล้วก็
.
.
.
 เปิดแอปฯค่ะ ถูกต้องค่ะ ปิ๊งป่อง ปิ๊งป่อง เราจะได้เจอกับหน้าแรกของ ELSA มีการทักทาย แล้วก็กด Get Started กันเลย จากนั้นจะมีคำแนะนำการใช้แอปฯแบบพอสังเขป และเข้าสู่การเลือกภาษาที่จะใช้ ซึ่งมีให้เลือกเยอะมากๆ ส่วนหน้าต่อมาเราก็ช่วย ELSA เขาตอบคำถามสำหรับเก็บข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อนำไปพัฒนาแอปฯต่อไปค่ะ

หน้าแรกของ ELSA
ภาษาให้เลือกมากมาย
ตอบแบบสอบถาม

หน้าต่อมาเขาให้คุณกำหนดเลยว่าคุณอยากจะใช้เวลาฝึกภาษาอังกฤษวันละกี่นาที อย่างของเราๆเลือก 10 นาที/วัน หลังจากเลือกระยะเวลาที่ต้องการพูดต่อวันแล้ว เรายังสามารถกำหนดได้ด้วยค่ะว่าอยากจะฝึกช่วงเวลากี่โมง (หลังจากที่ใช้ เราไม่เจอว่าทางแอปฯ จะส่งข้อความอะไรมาแจ้งเตือนเพื่อให้ฝึกภาษาในช่วงเวลาที่เราเลือกไว้นะ)

ดูหน้านี้ไว้ให้ดีๆเลยค่ะ เพราะจะเป็นการกำหนดวิธีจ่ายเงิน ELSA จะให้เราใช้ฟรี 7 วันเท่านั้น หลังจากนั้นผู้ใช้จะต้องจ่ายเงิน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายเป็นรายปี 1600 บาท หรือจะเลือกจ่ายเป็นไตรมาสที่ 519บาท ตรงนี้คุณต้องทำการเลือกแพกเกจเลย โดยใส่ข้อมูลการจ่ายเงินให้เรียบร้อยว่าจะตัดผ่านบัตรเครดิต หรือจะจ่ายผ่านเครือข่ายมือถือ หรือจะเป็น True wallet ก็ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมกดยกเลิก unsubscribe ก่อนจะครบกำหนด 7 วัน! ในกรณีที่ทดลองใช้แล้วไม่ถูกใจ

บทเรียนวันนี้

หน้าจอนี้แสดงให้เห็นว่าวันนี้คุณมีกี่บทเรียนค่ะ อย่างเราเลือกฝึกพูดวันละ 10 นาที มีทั้งหมด 5 บทเรียน โดยในบทเรียนแรกเป็นเรื่องของการ stress เสียง ว่าในคำหนึ่งเราควรที่จะเน้นนำหนักเสียงลงพยางค์ไหน หลังจากฝึกครบแล้ว ในท้ายบทเรียนจะแสดงคำศัพท์ทั้งหมดที่เราได้ฝึกออกเสียง ซึ่งคำศัพท์ในแอปฯ ก็จะเป็นคำที่เราสามารถใช้ได้ทั่วไป ไม่ได้เป็นศัพท์หรูหรามากขนาดนั้น

บทเรียนทั้งหมดในวันนี้
Stress เสียงผิด
Stress เสียงถูก

บทเรียนที่ 2 ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแยกเสียงคำที่ออกเสียงคล้ายๆกัน ในระดับเริ่มต้นก็จะเป็นคำศัพท์ระดับแบบ Beginner หากเราตอบผิดก็จะมีเฉลยให้ค่ะ ผู้ใช้ไม่ต้องกลัวเลยว่าระบบ AI จะพูดเร็วเกินไป เพราะในทุกๆบทเรียนจะมีรูปเจ้าหอยทาก ปุ่มหอยทากนี้มีไว้หากผู้ใช้ต้องการฟังภาษาอังกฤษแบบช้าๆ

บทเรียนต่อมาเป็นเรื่องการโต้ตอบบทสนทนากับอีกฝั่ง อีกฝั่งที่หมายถึงนี้คือ AI นะคะ ส่วนเวลาเราจะตอบ เราไม่ต้องคิดคำตอบเองค่ะ เพราะจะมี text ขึ้นมาให้เราอ่านออกเสียง จากนั้นตัวแอปฯจะทำการประเมินว่าเราออกเสียงเป็นอย่างไรบ้าง หากผู้อ่านสังเกตด้านบนของแอปฯ เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้ทำการประเมินแบบปกติ คือการประเมินจะเป็นช่วงกว้างๆ บอกว่าเราทำได้ยอดเยี่ยม ดี หรือต้องแก้ไข แต่หากเราเลือกเป็นระดับสูง ELSA จะบอกเราเลยว่าเราควรแก้ไขตรงจุดไหนบ้าง และ text ที่เราอ่านออกเสียงไปโดยรวมแล้วเราได้คะแนนกี่เปอร์เซ็นต์ แบบฝึกหัดลักษณะนี้สามารถเอาไปประยุกต์กับ PTE Academic พาร์ท Speaking ได้นะ

แสดงผลการประเมินคะแนนแบบปกติ
แสดงผลการประเมินคะแนนแบบระดับสูง

บทเรียนที่ 4 สำหรับวันนี้ เป็นเรื่องการออกเสียงคำแต่ละคำคล้ายกับบทเรียนแรก แต่คราวนี้จะมาเน้นการออกเสียงที่หลายๆคนมักจะมีปัญหาคือเสียง sh และในทุกๆท้ายบทเรียนก็จะมีการประเมินคะแนนให้ผู้ใช้อย่างเราทราบว่าเราออกเสียงได้ใกล้เคียง Native แค่ไหน หากเลือกแบบปกติก็จะเป็นภาพรวม แต่หากเลือกระดับสูง คุณก็จะได้คะแนนวิเคราะห์สำหรับคำแต่ละคำเลยค่ะ

บทเรียนสุดท้ายของวันนี้ เป็นเรื่องการออกเสียงโดยให้อ่าน Text ซึ่งครั้งนี้ myPTEjourney ลองแกล้งอ่านไม่จบประโยคดูบ้าง เพื่อทดลองประสิทธิภาพของเจ้าหล่อน ELSA ค่ะ ปรากฏว่าหล่อน ELSA ฟ้อง ฟ้องว่าเราน่ะอ่านไม่จบ ช่วยอ่านให้จบประโยคด้วย ฉันจะได้ประเมินคะแนนเธอได้ ในตอนท้ายของบทเรียนก็มีการแจ้งว่าเราพลาดอะไรตรงไหนไปบ้าง การเลือกการประเมินว่าจะเลือกแบบปกติหรือระดับสูงก็แล้วแต่ผู้ใช้งานพึงพอใจเลยค่ะ

นอกจากบทเรียนที่ ELSA จัดมาให้เราแต่ละวันแล้ว ยังมีทักษะอื่นๆที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ อย่างเช่น การอ่านออกเสียงตัว S ตัว Z หรือเสียงลงท้ายประโยคที่คนไทยอย่างเราๆมักจะพูดไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ เมื่อคลิกเข้าไปแล้วคุณจะเจอการอธิบายคร่าวๆว่า Ending voice คืออะไร ใช้อย่างไร และมีตัวอย่างการออกเสียงแบบวิดีโอเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทักษะอื่นๆก็ยังมีให้ผู้ใช้งานได้เลือกฝึก เช่น การออกเสียงตัว R ในภาษาอังกฤษ การออกเสียงเชื่อมคำแต่ละคำในประโยค ฯลฯ ซึ่งทักษะพวกนี้เป็นทักษะที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากสปีคอิงลิชให้ชัดมากยิ่งขึ้น บทเรียนเหล่านี้จะอยู่ใน Mixed skills ซึ่งมีบทเรียนให้เลือกฝึกเยอะมากๆ

ในส่วนของรูปไอคอนเข็มทิศ จะเป็นการรวมเนื้อหาต่างๆแบบวาไรตี้ ในหัวข้อแนะนำจะมีรูปแบบการเรียนภาษาอังกฤษที่คุณอาจจะไม่นึกว่ามีในแอปฯแบบนี้ด้วย เพราะมีทั้งโหมดการเรียนภาษาอังกฤษกับครูจริงๆ สามารถเลือกวันและเวลาได้ มีโปรไฟล์ให้คุณได้พิจารณาก่อนตัดสินใจจองเวลาเรียน มีทั้ง Native speaker สำเนียงอเมริกัน หรือเป็นอเมริกัน-อินเดีย ส่วนเรทราคาที่สำรวจมาของติวเตอร์ทั้ง 2 ท่านอยู่ที่ $25 ต่อ 30 นาที ซึ่งเรื่องราคาก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคนเลยค่ะ

หรือหากคุณอยากจะเลือกฝึกภาษาอังกฤษโดยโปรแกรมของ Oxford แอปฯ ELSA ก็มีมาให้คุณเลือกตั้งแต่ระดับ Starter ไปจนถึง Advanced เลย แต่ว่าจะเข้าได้แค่ตัว Trial เท่านั้น หากคุณสนใจทั้งแพ็กเกจ คุณจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อปลดล็อกหนังสือ 1 เล่ม สนนราคาที่ 179 บาท/เล่ม แต่หากอยากจะได้ทั้งแพ็กเกจครอบคลุมทุกระดับ ราคาจะอยู่ที่ 729 บาท โดยผู้เรียนสามารถเข้าใช้งานได้ตลอดชีวิต! นอกจากนี้ก็ยังมีพวกหลักสูตรภาษาอังกฤษพิเศษของ University of Pennsylvania หรือพวกชุดการเรียนรู้เพื่อสอบ IELTS ก็มีให้ผู้ใช้แอปฯได้ฝึกฝน ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับการพูดเพื่อนำไปใช้กับพาร์ท Speaking  ใน IELTS

หากคุณไปที่หมวด ‘หัวข้อ’ จะเป็นหัวข้อพิเศษนอกเหนือจากบทเรียน เช่น คำศัพท์ Slang ต่างๆ พวก Idioms หรืออย่าง Phrasal verbs  แต่ถ้าหากใครเบื่อๆ ไม่อยากเรียนไวยากรณ์แล้ว ทาง ELSA ก็มีหัวอื่นๆให้เลือกฝึกอย่างเช่น ประเพณี วันสำคัญต่างๆ หรืออะไรที่แหวกแนวอย่างหัวข้อ Online relationship ก็มี ซึ่งรูปแบบของบทเรียนก็จะคล้ายๆกับที่กล่าวไว้ด้านบน อย่างเรื่องการฝึกเน้นเสียงของคำ มีการโต้ตอบกันเป็นบทสนทนา ให้ฟังเสียงความต่างระหว่างคำ 2 คำที่คล้ายกัน ในแต่ละหัวข้อก็มีหลายบทเรียนให้พวกเราได้ฝึกกันแบบจุใจไปเลยค่ะ

หมวดหมู่การเรียนภาษาอังกฤษในหัวข้อพิเศษ

เป็นอย่างไรบ้างคะกับบทความรีวิวแอปพลิเคชั่น ELSA แบบจุใจ บอกก่อนเลยว่านี้แค่บทความแรกเท่านั้น myPTEjourney ขอไปเตรียมตัวร่างบทความรีวิวในส่วนที่ 2 ต่อก่อนนะคะ รับรองว่ามาแบบจัดเต็มพร้อมด้วยความคิดเห็นจากใจล้วนๆ (เพราะไม่มีสปอนเซอร์ .ฮา.)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *