Loon Shots ลูนช็อต ไอเดียบ้าๆที่พลิกชะตาโลก

ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ    : Loon Shots
ชื่อภาษาไทย        : ลูนช็อต ไอเดียบ้าๆที่พลิกชะตาโลก
เขียน                      : ซาฟี บาห์คอลล์
แปล                      : ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ อัควีร์ มัธยมจันทร์
สำนักพิมพ์            : Amarin HOW-TO
จำนวนหน้า          : 428 หน้า
ISBN                      : 9786161841294
ภาษา                     : ไทย
ราคาปก                : 365 บาท


ความรู้สึกหลังอ่าน

ซื้อมาเพราะเป็นหนึ่งในหนังสือที่บิล เกตส์แนะนำ เพราะเกตส์มักจะได้ความคิดหรือไอเดียดีๆมาจากการอ่านหนังสือ ถึงจะยุ่งแค่ไหนยังไงเขาก็จะต้องพกหนังสือติดตัวอยู่เสมอ เผื่อว่าอ่านแล้วจะมีไอเดียร้อยล้านปิ๊งๆอยู่ในหัวเหมือนบิล เกตส์บ้าง จัดมาเลย 1 เล่มส่งตรงถึงบ้าน อ่านทุกคืนที่บ้านก่อนนอน เอาไปอ่านที่หอพักก่อนนอน พกเล่มนี้ติดตัวขึ้นเครื่องตอนไปใต้ อ่านมันบนเครื่องบินแก้เบื่อ อยู่ที่ใต้ก็อ่าน กลับมาจากภาคใต้ก็อ่าน และดีใจมากที่ในที่สุดก็อ่านจบ! ปกติหนังสือหนาประมาณ 400 หน้ากว่าๆเราจะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ในการอ่าน ไล่เรียงตัวหนังสือไปทีละบรรทัดแบบสบายๆไม่ซีเรียส เราชอบอ่านหนังสือก่อนนอนเพื่อให้จินตนาการมันโลดเล่น แต่ Loon Shots สามารถทำให้เราจมดิ่งสู่ห้วงนิทราได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คิด ประมาณว่าอ่านแล้วตาจะปิดให้ได้เลย

เอาจริงๆคือตอนแรกเรานึกว่าเนื้อหาจะเกี่ยวกับพวก Study case ไอเดียที่มันเปรี้ยงปร้างจนสามารถมันพลิกวงการใดๆของโลกไปเลย แบบว่าไอเดียบ้าบอพวกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรพวกมันถึงสามารถเติบโตได้ พวกเขาฝ่าฝันมันมาอย่างไรจนกว่าจะได้ลิ้มรสรสชาติความสำเร็จ จุดเปลี่ยนในคืออะไรจนทำให้คนทั้งโลกต้องยอมรับ

และนี่คือการคิดไปเองว่าเนื้อหาภายในของ ‘Loon Shots ลูนช็อต ไอเดียบ้าๆที่พลิกชะตาโลก’ จะเป็นแนวนี้ แต่เราคิดผิด…

หนังสือเล่มนี้เขียนโดน ซาฟี บาห์คอลล์ นักฟิสิกส์ เนื้อหาภายในหนังสือเล่มฟ้าจึงมีเรื่องเกี่ยวข้องกับฟิสิกส์อยู่มาก เล่มนี้เปิดเรื่องมาด้วยเนื้อเรื่องของบุคคลหรือบริษัทที่พยายามจะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงเงิน หลายเคสสำเร็จ หลายเคสก็เจอความล้มหลายเสียไม่เป็นท่า ผู้เขียนลงลึก Study case ของบริษัทแพนแอม ที่เมื่อครั้งก่อนเคยเป็นบริษัทที่สยายปีกธุรกิจการบินได้ใหญ่ที่สุด พร้อมด้วยอิทธิพลมากล้น มีไอเดียบ้าๆที่กลั่นออกมาจากมันสมองของคนๆหนึ่ง แต่สุดท้ายก็กลับล้มไม่เป็นท่าเมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนเพียงนิดเดียว แต่ในขณะเดียวกันบริษัทอเมริกันแอร์ไลน์ผู้ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นเต่าคลานต้วมเตี้ยมๆ กลับยังคงยืนผงาดได้จวบจนปัจจุบัน

อีกเคสนึงที่ซาฟี บาห์คอลล์ยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟังค่อนข้างละเอียดคือการคิดค้นยาที่สามารถช่วยลดระดับคอเลสตอรอลได้ ผู้คิดค้นต้องต่อสู้กับทั้งปัญหาภายในบริษัทและภายนอก น่าเสียดายที่บริษัทที่เขาทำงานอยู่กลับเชื่อในผลการทดลองลวง ส่งผลให้บริษัทที่อยู่อีกซีกโลกกลับได้ทั้งชัยชนะและเม็ดเงินมหาศาลไปครอบครอง ถึงเรื่องนี้จะมีรายละเอียดเยอะ แต่ขอบอกก่อนเลยว่าไม่เยอะและละเอียดเท่าเรื่องความเป็นมาของแพนแอมแน่นอน

เรื่องราวการก่อกำเนิดของโพลารอยด์เป็นเรื่องที่เราชอบเป็นพิเศษ คือความคิดของผู้คิดค้นนี่เรียกได้ว่าอัจฉริยะ มันคือการเกิดใหม่ของวงการวิทยาศาสตร์ ความคิดของเขาผู้นี้เป็นอะไรที่แบบว่าเปิดโลกวงการวิทยาศาสตร์หลายๆอย่าง แกคิดของแกคนเดียวแล้วก็ทำไปเรื่อยๆเดินไปเรื่อยๆด้วยตัวเอง คนๆเดียวคิดนวัตกรรมใหม่ๆได้เยอะแบบเหลือเชื่อ น่าเสียดายที่สุดท้ายบริษัทก็ต้องล้มไปเพราะดันติดอยู่ที่กับดักโมเสส

สิ่งที่ผู้เขียนอธิบายและสามารถสะท้อนสังคมประเทศไทยได้อย่างดี คือการพยายามผลักดันความคิดสมัยใหม่ที่เหล่าภาคทหารมักไม่เห็นด้วย ลองนึกภาพคน 2 ฝ่าย ฝ้ายหนึ่งเป็นทหารที่ถูกหล่อหลอมโดยแวดวงระบบทหารให้เป็นผู้รับฟังอย่างเดียว ฝ่ายหนึ่งเป็นพวกนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบคำตอบใหม่ๆ คุณเห็นความไม่มีทางเข้ากันได้เลยของ 2 ฝ่ายนี้ไหม? แต่แล้วก็มีบุคคลหนึ่งที่ก้าวเข้ามาสานหลุมดำระดับประเทศ(เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอเมริกา) ก่อให้เกิดการพลิกชัยชนะสงคราม ช่วยผู้คนได้เป็นล้าน เรานึกไม่ออกเลยว่าหากทั้ง 2 ฝ่ายไม่ร่วมมือกัน หากไม่มีเขาคนนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจะออกมาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ … แล้วก็ย้อนมองดูประเทศเราในตอนนี้…

แยกศิลปินและทหารคุณออกจากกัน รักศิลปินและทหารของคุณให้เท่าเทียมกัน

Loon Shots ลูนช็อต ไอเดียบ้าๆที่พลิกชะตาโลก

ตรงนี้เรารู้สึกว่าการเล่าเรื่องของผู้เขียนเหมือนการเล่าเรื่องเชิงสารคดี เล่าแบบเนื้อหาจริง แต่จริงแบบน่าเบื่อ เหมือนอ่านวารสารทำนองนั้น เพิ่มเติมคือเราอยากจะให้ผู้เขียนลงให้ชัดเลยอย่างในของกรณีแพนแอมที่มีเนื้อหาอธิบายไว้จึ๋งเดียวว่าทำไมอยู่ดีๆถึงไม่สามารถกลับมาได้อีก รายละเอียดตรงจุดดิ่งของแพนแอมมีอยู่ประมาณ 2 ย่อหน้า เราเลยยังงงๆอยู่ ทำนองว่า หืม…? แค่นี้น่ะนะ คือมันไม่สุด มันไม่เคลียร์ ที่แพนแอมล้มอาจจะเริ่มต้นจากอะไรที่มันเล็กก็จริง แต่ผู้เขียนไม่ได้ขยายความทำให้คนอื่นอย่างเราไม่ค่อยเข้าใจว่าเพราะอะไรกันแน่ที่ทำให้บริษัทใหญ่โตขนาดนี้ล้มตึง ไม่สามารถกู้กิจการกลับมาได้

จากนั้นผู้เขียนก็มาเราลงลึกถึงทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่อง ‘การเปลี่ยนเฟส’ และเริ่มลงลึกไปถึงทฤษฎีความเป็นมาของหลักคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ที่เราเองก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน อย่างทฤษฎี ‘การผุดบังเกิด’ หรือ’ตัวเลขมหัศจรรย์’ และขอบอกอย่างหนึ่งเลยว่าผู้เขียนยกตัวอย่างมาได้ง่วงนอนสุดๆ คือปกติแล้วการอธิบายถึงทฤษฎีอะไรสักอย่างมันก็ง่วงพออยู่แล้ว (คนอื่นอาจจะตื่นเต้น แต่สำหรับเราผู้ซึ่งอ่านหนังสือก่อนเข้านอน มันคือยานอนหลับชั้นดีนี่เอง) แล้วซาฟี บาห์คอลล์ยังยกตัวอย่างอะไรที่มันแบบว่า… การลุกลามของการเผาไหม้ภายในป่า, ทำไมจิ้งหรีดจึงส่งเสียงอย่างพร้อมเพรียง, พฤติกรรมทางสังคมของลิงบาบูน, เส้นวิกฤติของรถติดหรือรถไม่ติด, การเหวี่ยงลูกแก้วในถาดใส่ไข่ ฯลฯ
ใช่ที่คณิตศาสตร์หรือวิชาวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานในการคิดค้นนวัตกรรม หรืออาจเป็นสิ่งที่มันสามารถเอามาพลิกโลก ช่วยคนนับล้านๆคนได้ แต่วิธีที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาเพื่อให้เราเข้าใจง่ายๆมันค่อนข้างน่าเบื่อ … ก็ไม่ค่อนข้างหรอก มันน่าเบื่อสุดขีดไปเลย อาจจะด้วยเราเองก็ไม่เห็นภาพ อีกทั้งเนื้อหาที่มีตัวหนังสือเรียงกันเป็นตับอีก

ส่วนการอธิบายการทดลองผู้เขียนก็พยายามอย่างสุดฝีมือเพื่อให้เราเข้าใจถึงหลักการที่จะมีลูนช็อต มีการแปะสูตรมาให้คนอ่านอย่างเราลองคิดตามด้วยนะ พร้อมทั้งคำอธิบายตัวแปรแต่ละตัวแบบยาวเป็นหน้ากระดาษ โอ…พระเจ้า ทำเอาตาลายไปเลย นี่ขนาดเรียนวิศวฯมานะเนี่ย .ฮา. เราพยายามเข้าใจว่าผู้เขียนเขาก็สู้สุดฤทธิ์เพื่อที่คนอ่านจะได้เข้าถึงหลักการมากขึ้น แต่สำหรับเรา มันยิ่งทำให้เรางงไปใหญ่ว่ามันเชื่อมกับลูนช็อต ได้อย่างไร จริงๆถามว่ามันเชื่อมไหมมันก็เชื่อมแหล่ะ แต่เชื่อมแบบว่าลูนช็อตอยู่ในลำดับที่ 1 ทฤษฎีที่ผู้เขียนหนังสืออธิบายจะอยู่ลำดับที่ 4 จากนั้นผู้เขียนก็อธิบายเพื่อเชื่อมกับทฤษฎีใหม่อีกตัวในบทต่อไปจาก 4 ไป 5  แล้วค่อยย้อนกลับมาที่ 1 ใหม่อีกที

อีกอย่างที่ทำให้เราเกิดความสับสนคือการเรียบเรียง Timeline ในแต่ละเรื่อง เหตุการณ์จริงที่ซาฟี บาห์คอลล์ยกตัวอย่างมาแต่ละอย่างมันโดดไปมา แบบว่าเล่าๆถึงตรงนี้ยังไม่ทันจบ ก็มาขึ้นเรื่องเดียวกันแต่คนละช่วงเวลา แล้วก็กลับมาต่อซ้ำตอนเดิม บางทีปีค.ศ.ก็โดดไปมา ถ้าใครไม่ตั้งใจอ่านล่ะก็งงแน่ๆ (แต่เราตั้งใจนะ สงสัยตอนนั้นมันง่วงจริงๆ) โดยเฉพาะในบทหลังๆที่อ้างอิงถึงหลายบุคคลในประวัติศาสตร์ ผู้เขียนไม่ควรเล่าแบบกลับไปมา

นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเบื่อก็ตรงที่ซาฟี บาห์คอลล์ชอบ Quote อะไรก็ไม่รู้มาใส่ในหนังสือ ใส่แบบจริงจังด้วยนะ โดยเฉพาะบทกวีอะไรทำนองนี้ ตัวหนังสือก็ต้องตั้งใจอ่านอยู่แล้ว แล้วมาเจอบทกวีที่ต้องพยายามให้ใช้ความลึกซึ้งเป็นพิเศษอีก เรามองว่ามันไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรหรือว่าข้องเกี่ยวกับเรื่องราวในหนังสือเท่าไหร่ ขนาดบทความเกี่ยวกับการบรรยายการแต่งขนของลิงบาบูน ผู้เขียนยังเอามาลงไว้ให้เราอ่านเลย

การถูกแต่งขนโดยลิงนั้นให้ประสบการณ์อารมณ์ยุคดึกดำบรรพ์ มีความตื่นเต้นในตอนต้นเพราะความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ที่ยังไม่ได้ทดสอบ

Loon Shots ลูนช็อต ไอเดียบ้าๆที่พลิกชะตาโลก

ซาฟี บาห์คอลล์ ก็คงรู้แหล่ะว่าสิ่งที่แกเขียนลงไปในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องที่อ่านปราดเดียวจะเข้าใจอู้หู อาฮ้าเลย เขาก็เลยมีสรุปแต่ละบทแบบเรียงเนื้อหาเข้ากันได้อย่างสวยงาม ไม่เยิ่นเย้อ เพื่อให้ผู้อ่านแบบ myPTEjourney เข้าถึงมากยิ่งขึ้น ตรงนี้เรามองว่าดีมากเลยนะคะ ด้วยเนื้อหามันค่อนข้างหนัก นอกจากจะงงได้ง่ายๆแล้วยังลืมอีก มันทำให้เราได้ทวนอีกครั้ง ถึงจะจำหลักการได้ไม่หมดแต่ก็พอให้เรานึกย้อนกลับไปได้ว่า อ๋อ! ฉันอ่านตรงนี้มาแล้ว

เล่มนี้เราว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งหากมันจะอยู่ในมือผู้บริหารหลายๆท่านเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงพนักงานทุกระดับในองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน วิธีลดการเล่มเกมส์การเมืองชวนประสาทจะกินแต่ผลงานไม่เกิดจะช่วยพวกคุณได้มากเลยว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทของคุณมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่วนบริษัทที่ใหญ่อยู่แล้ว อยากจะสร้างแรงกระเพื่อมก็เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อให้คนบนโลกว้าวกับไอเดียของคุณ เป็นการตอกย้ำถึงความสามารถที่คุณมี

เหตุผลที่บอกว่าเหมาะกับระดับผู้บริหารก็เพราะว่าลูนช็อตจะไม่มีโอกาสได้เกิดเลยหรือเกิดได้ยากมากหากพวกคุณไม่สนับสนุนและไม่มีแนวทางปฏิบัติที่จะฟูมฟัก หล่อเลี้ยง หรือมีวิสัยทัศน์มากพอที่จะเห็นค่าลูนช็อตเหล่านี้ มันก็ใช่ที่พูดว่าทุกอย่างเริ่มที่ตัวเราเอง แต่งานหลายๆงานก็ต้องมีพวกคุณคอยสนับสนุนพวกเขาด้วย หากไม่มีพวกคุณ ไอเดียน้อยๆของเหล่าพนักงานตัวเล้กๆก็ยากที่จะสานฝัน พยายามไปมากเท่าไหร่พวกคุณก็เขี่ยทิ้งอย่างไม่ใยดี


ข้อเสนอแนะ

อยากจะฝากถึงต้นฉบับว่ารูปบางรูปไม่ต้องใส่มาเลยก็ได้ มันไม่ได้สื่อถึงอะไรเลย อย่างรูปนักวิทยาศาสตร์ในตัวปลาปิรันยาเพื่อแสดงให้เห็นถึงคำเปรียบเปรย หรือรูปจิ้งหรีดที่ใส่เสื้ออย่างเท่ยืนใส่หูฟังที่เอามาใส่ไว้ในการอธิบายเรื่องทำไมจิ้งหรีดจึงส่งเสียงอย่างพร้อมเพรียง ไม่ต้องใส่มาก็ได้

หากเป็นไปได้อยากจะให้ผู้เขียนลด Quote ออกหน่อย หลายๆตัวอย่างเป็น Quote จากคนดังหรือกวีดังก็จริงแต่ว่ามันไม่ได้เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ของเนื้อหาเสียเท่าไหร่ ยิ่งบทที่เขียนโดยนักกวีที่เขามีอารมณ์สุนทรีย์แบบที่เราเข้าไม่ถึง มันกลายเป็นว่าทำให้เราไม่รู้สึกถึงอะไรเลย


หน้าที่พิมพ์ผิด

ไม่มี

******************************************

ไม่ได้พิมพ์ผิดแต่ควรจะตรวจสอบอีกครั้ง

หน้า 57 กฎสองข้อแรกเป็นกฎที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น มันกุญแจสู่ชีวิตที่ 32 องศาฟาเรนไฮต์ ควรจะเป็น กฎสองข้อแรกเป็นกฎที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น มันคือกุญแจสู่ชีวิตที่ 32 องศาฟาเรนไฮต์

หน้า 139 ดนตรีหยุดบรรเลงลงไปแล้ว แต่แพนแอมกลับไม่ได้สังเกต มันยังคงสั่งเครื่องบิน 747 เพิ่มอีก 8 ลำ ควรจะเป็น ดนตรีหยุดบรรเลงลงไปแล้ว แต่แพนแอมกลับไม่ได้สังเกต ยังคงสั่งเครื่องบิน 747 เพิ่มอีก 8 ลำ

หน้า 165 ยอดขายของโพลารอยด์จากที่เติบโตไม่ถึง 1.5 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 1948 กลับลดลงเหลือ 1.4 พันล้านเหรียญปีค.ศ. 1978… ควรจะเป็น ยอดขายของโพลารอยด์จากที่เติบโตไม่ถึง 1.5 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 1948 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้านเหรียญปีค.ศ. 1978…  (คือในบริบทด้านหลังพูดถึงโพลารอยด์เป็นเจ้าแห่งวงการถ่ายภาพด่วน ด้วยไอเดียบ้าๆ ทำให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น)

หน้า 307 จนถึงช่วงทศวรรษ 1950 ความขัดแย้งคลี่คลาย ลงสภาคองเกรสได้ก่อตั้งเสาหลักของระบบ…  ควรจะเป็น จนถึงช่วงทศวรรษ 1950 ความขัดแย้งคลี่คลายลง สภาคองเกรสได้ก่อตั้งเสาหลักของระบบ…