Read Aloud อ่านออกเสียงจากบทความที่ให้

นี่คือด่านอรหันต์แรกที่คนส่วนใหญ่จะต้องเจอ เป็น Task แรกที่จะเริ่มเก็บคะแนน แต่ๆๆบางคนก็อาจไม่ได้เจอเป็น Task แรกในส่วนของ Speaking เพราะข้อสอบของ PTE นั้นจะไม่ได้เรียงลำดับว่าทุกคนในห้องสอบจะเจอ Task นี้เหมือนกันทั้งหมดเป็นอย่างแรก สำหรับผู้เข้าสอบบางท่านอาจจะเจอ Describe Image เป็นอย่างแรกก็ได้ เพราะ Task ในส่วน Speaking จะสลับไปมาระหว่างผู้เข้าสอบแต่ละท่าน แต่อย่างไรเสีย Task ย่อยเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Speaking ทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้เข้าสอบ PTE บางท่านอาจมีความกังวลใจในเรื่องทักษะการพูดภาษาอังกฤษของตนเอง แค่สอบพูดใน IELTS ก็ว่ายากแล้ว มาเจอการวัดทักษะการพูดที่มีข้อความยาวๆให้อ่านอย่างใน Read aloud มาอีกยิ่งเข้าไปแล้วใหญ่ มันคืออะไรกันเนี่ย?


Read aloud คืออะไร?

Read aloud เป็นหนึ่งในข้อสอบการวัดทักษะการพูด ในข้อสอบส่วนนี้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์จะมีข้อความปรากฏให้อ่าน เราจะต้องอ่านออกเสียงข้อความที่ให้มาใส่ไมโครโฟนในระยะเวลาที่กำหนดในครั้งเดียว โดยบทความที่ให้มาจะไม่เกิน 60 คำต่อ 1 ข้อ
ถึงแม้ Read aloud จะอยู่ในพาร์ทของ Speaking ก็ตาม แต่ข้อสอบใน Task นี้จะวัดทักษะคะแนนในทักษะ Speaking และ Reading

แต่ละส่วนที่ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์คืออะไร?

หน้าจอที่ปรากฏในส่วนของ Read aloud (รูปจาก Pearson PTE Academic Tutorial)

1) Instructions
คำแนะนำว่าเราจะต้องทำอย่างไรกับข้อสอบที่เราเห็นบนหน้าจอในขณะนี้ ซึ่งเขาได้บอกไว้อย่างแจ่มแจ้งที่สุดเพื่อให้ผู้เข้าสอบได้เข้าใจอย่างง่ายที่สุดในเวลาอันสั้นที่สุดว่าเราต้องทำอย่างไร กับ Task นี้และมีเวลาเท่าไหร่สำหรับการอ่านออกเสียง
Look at the text below. In 40 seconds, you must read this text aloud as naturally and clearly as possible. You have 40 seconds to read aloud.
ดูข้อความด้านล่าง. ภายในเวลา 40 วินาทีคุณจะต้องอ่านออกเสียงข้อความนี้อย่างธรรมชาติและชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้. คุณมีเวลา 40 วินาทีในการอ่านออกเสียง

2) กล่องแสดงสถานะ Recording และเวลาให้เรารู้ว่าเริ่มพูดได้และใกล้หมดเวลาเมื่อใด (Recording Status Box)
มีไว้เพื่อแสดงสถานะว่าไมโครโฟนเปิดและปิดเมื่อใด และจะมีการบอกช่วงเวลาเราเป็นวินาทีให้เราเตรียมตัวก่อนที่เราจะพูด อีกทั้งยังมีการแสดงของแถบสีฟ้าให้เราทราบว่าเหลือเวลาประมาณเท่าไหร่ก่อนที่ไมโครโฟนจะปิด ซึ่งสำคัญมาก เจ้ากล่องนี้จะมาทักทายเราอยู่เสมอหากมีการพูดเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะมีการแสดงสถานะอยู่ 2 แบบสำหรับการ Read aloud คือ

แสดงระยะเวลาให้เราเตรียมพร้อมก่อนอ่านออกเสียง โดยเริ่มต้นที่วินาทีที่ 40
เวลานับถอยหลังจากวินาทีที่ 40 จนมาถึงวินาทีที่ 30

2.1) แสดงระยะเวลาให้เราเตรียมพร้อมก่อนอ่านออกเสียง แสดงเวลานับแบบถอยหลัง 35-40 วินาที ขึ้นอยู่กับความยาวของข้อความนั้นๆ โดยจะนับถอยหลังจากวินาทีที่ 40 หรือ 35 มาเรื่อยๆจนถึง 0 ช่วงระยะเวลานี้มีไว้เพื่อให้เราเตรียมตัวก่อนเริ่มพูดจริง บางคนอาจจะนั่งอ่านบทความออกเสียงเพื่อให้คุ้นเคยก่อนอ่านจริง บางคนอาจแสกนอ่านบทความคร่าวๆเพื่อให้เข้าใจเนื้อความ แล้วแต่วิธีการที่แต่ละคนถนัด ในส่วนนี้ถือว่าทาง Pearson ก็ใจดีกับเราอยู่นะคะ

หน้าจอแสดงสถานะ Recording

2.2) แสดงสถานะ Recording โดยเมื่อระยะเวลานับถอยหลังจากช่วงเตรียมตัวก่อนอ่านออกเสียงเข้าสู่วินาทีที่ 1 และเข้าสู่วินาทีที่ 0 สถานะของ Recording status box จะเปลี่ยนเป็น Recording ในทันที ผู้เข้าสอบจะได้ยินเสียง ปี๊ป! ในขณะเดียวกัน และจะมีแถบสีน้ำเงินปรากฏขึ้นในทันทีเพื่อให้ผู้เข้าสอบทราบว่าได้ว่าไมโครโฟนเริ่มการบันทึกเสียงแล้ว

3) Text ที่เราจะต้องอ่าน
ข้อสอบในส่วนของ Read aloud ทุกข้อจะมี Text ให้เราอ่าน เราจะต้องอ่าน text โดยออกเสียงอย่างเป็นธรรมชาติและชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขนาดความยาวของบทความที่เราจะต้องอ่านรวมกันแล้วจะไม่เกิน 60 คำ ไม่ต้องกังวลว่าเวลาเราอ่านบทความแล้วจะเกินวลาที่ Pearson กำหนดให้ เพราะเวลาที่ให้มากับความยาวบทความจะสัมพันธ์กันพอดี 


  1. เมื่อไหร่ที่สถานะบน Recording Status Box เปลี่ยนเป็น ‘Recording’ เราจะได้ยินเสียง ปี๊ป! จะมีแถบสีน้ำเงินเริ่มวิ่งพร้อมๆกันไปด้วย เราจะต้องเริ่มพูดหลังจากได้ยินเสียงปี๊ป! โดยทันที แต่ระวังอย่าพูดก่อนที่ Recording Status Box เปลี่ยนเป็น ‘Recording’ เด็ดขาด!
  2. เรามีโอกาสในการอ่านออกเสียงได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น!

ก่อนเริ่มอ่านออกเสียง : ใช้เวลาช่วง 35-40 วินาทีให้คุ้ม เขาให้เวลาเราเตรียมตัวแล้ว ใช้เวลาช่วงนี้ให้คุ้มที่สุด โดยการ

กวาดตา text ที่ให้มาคร่าวๆ แล้วดูว่ามีตรงไหนหรือคำไหนที่เราน่าจะมีปัญหาในการอ่านออกเสียง ให้เราลองอ่านออกเสียงตรงนั้น
ลองอ่านออกเสียงเพื่อให้คุ้นชินกับ text ที่ให้มา เพราะพอเราลองอ่านออกเสียงแล้วเราจะรู้ได้มันทีเลยว่าเราติดตรงไหน มีตรงไหนที่ยังอ่านไม่ลื่นบ้าง ให้เราอ่านออก เสียงในส่วนนั้นซ้ำๆ (เราเลือกใช้วิธีนี้ เพราะเรารู้สึกว่าพอได้อ่านออกเสียงทั้งหมดมันจะทำให้เรารู้ว่าติดขัดตรงไหน ต้องเน้นเสียงตรงไหน และมีตัว –s/-es/-ed ตรงไหน)
พอลองอ่านออกเสียงแล้ว เราจะดูว่าจุด full stop/ comma อะไรพวกนี้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะการอ่านภาษาอังกฤษที่ควรจะเป็นธรรมชาติเขาจะเว้นวรรคตรงช่วงสัญลักษณ์พวกนี้ นอกจากนั้นเราจะใช้มันเป็นตัวแบ่งประโยคเพื่อที่จะได้มีเวลาให้หายใจหายคอบ้าง หากพูดไปรวดเดียวเลยมันจะไม่เป็นธรรมชาติ ลิ้นมันจะเริ่มพันกัน และมีโอกาสอ่านผิดอยู่บ่อยครั้งสูง

ไม่ต้องลน อย่าไปกังวลเรื่องเวลามากเกินควร เพราะเวลาที่เขาให้เรามาเตรียมตัว 35-40 วินาทีนั้นเพียงพอที่จะอ่านหรือ่านออกเสียง text ที่ให้มา 1 รอบ และยังมีเวลาให้ฝึกพูดในส่วนที่เรายังติดขัดซ้ำได้อยู่

myPTEjourney

ช่วงเวลาที่ต้องอ่านออกเสียงของจริง

เริ่มอ่านเมื่อได้ยินเสียงปี๊ป! และแถบสีน้ำเงินเริ่มวิ่ง อย่าพูดก่อนเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะไม่มีการบันทึกเสียงในส่วนนั้น
เน้นเสียงในส่วนที่ต้องเน้น ลงเสียงต่ำในส่วนที่ต้องลงเสียงต่ำ เช่น ช่วงลงท้ายประโยค ปิดประโยค เน้นเสียงในการอ่านคำแต่ละคำให้ถูกต้อง เช่นคำว่า important, beautiful, table เราควรต้องเน้นเสียงสูงต่ำตรงไหนบ้าง
อย่าลืมเสียง –s/-es/-ed พยายามออกเสียงให้ถูกต้อง
อ่านให้เป็นธรรมชาติ เหมือนที่คนปกติทั่วๆไปอ่าน ไม่ต้องรีบและอย่าช้าเกินปกติ

ในส่วนนี้จะไม่มีอะไรมาก เพราะถ้าหากเราได้ใช้เวลาในช่วงเตรียมตัวอย่างคุ้มค่า เวลาอ่านออกเสียงจริงๆก็จะทำได้อย่างราบรื่น

myPTEjourney

หลังจากอ่านออกเสียง

ให้คลิก Next ทันทีเพื่อป้องกันเสียงอื่นแทรกเข้าไปในไมค์


สิ่งต้องห้ามใน Read aloud หากอยากได้คะแนนดี!

👎 หากถึงเวลาที่ Recording จริง แล้วมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอ่านผิด ลืมตัว –s ตกคำว่า and ไป กรุณาอย่าย้อนกลับไปอ่านใหม่เด็ดขาด! อ่านผิดแล้วก็อ่านไปเลย อย่าไปพะวงกับคำที่อ่านผิด หากใครติดนิสัยพออ่านผิดแล้วอยากกลับไปอ่านประโยคนั้นใหม่ ขอให้เลิกนิสัยนั้นเสีย มันคือสิ่งต้องห้ามใน Read aloud เชียวล่ะ
(ในหนังสือ PTE Academic from the test developers  บอกว่าหากคุณอ่านผิด ก็ให้อ่านใหม่และก็อ่านส่วนที่เหลือ อย่า! กลับไปเริ่มตั้งแต่แรก วึ่งก็แล้วแต่ผู้เข้าสอบจะพิจารณาเทคนิคไหนก็ได้ตามสมควร แต่สำหรับ myPTEjourney แล้ว เราจะไม่แก้คำนั้นแล้ว เพราะเราจะเริ่มพะวง มันจะวนอยู่ไหนหัว เราจึงไม่กลับไปแก้)

👎 เอิ่ม…อ่า…เอ๋…อืม… เอาพวกคำอุทานเวลาอ่านคำนั้นๆไม่ออกทิ้งลงคลองไปเลย! คอมพิวเตอร์จะบันทึกคำเหล่านี้แล้วจะพบว่ามันไม่มีคำพวกนี้อยู่บน text เลยนะจ๊ะ คะแนนของคุณเสียไปแล้วฟรีๆ เพราะฉะนั้นใช้เวลาช่วงเตรียมตัวก่อนอ่านจริงให้คุ้ม หากคำนั้นอ่านไม่ออกจริง ไม่รู้ว่าอ่านออกเสียงอย่างไร ก็ต้องอ่านไปแบบเลยตามเลย ห้ามเอิ่ม…อ่า…เอ๋…อืม…เด็ดขาด!

👎 อ่านผิดเยอะแค่ไหน ลมหายใจใกล้จะหมดอ่านไร ห้ามหยุดอ่าน! เราสามารถสูดลมปราณเข้าไปใหม่ได้ตอนที่เจอเครื่องหมายสัญลักษณ์พวก comma เอย colon เอย semicolon เอย ฯลฯ เครื่องหมายพวกนี้เป็นตัวช่วยแบ่งประโยคให้เรา เราสามารถใช้เครื่องหมายวรรคตอนแบ่งจังหวะลมหายใจได้อย่างเป็นธรรมชาติค่ะ

👎 เมื่ออ่านจนจบ text แล้วอย่าปล่อยให้แถบ status recording สีฟ้าวิ่งไปเรื่อยๆ ให้กดปุ่ม ‘Next’ ทันที เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะเวลาที่คุณหยุดพอแล้วยังปล่อยให้มัน record ต่อ ไมโครโฟนอาจจะไปจับเสียงของผู้เข้าสอบคนอื่นๆเข้ามาใน recording ของเราก็เป็นได้ ข้อนี้เราเคยพลาดมาแล้วในการสอบครั้งที่ 1 และ 2 ข้อนี้เป็นข้อที่กูรูหลายท่านมักจะย้ำเสมอเพราะหลายคนมักจะนึกไม่ถึงว่ามันมีส่วนด้วย


หากผู้อ่านท่านใดอยากเห็นรูปแบบของ Read aloud แบบ VDO สามารถดูได้ตามด้านล่างนี้เลยค่ะ

รูปแบบการจำลอง Read aloud ใน PTE

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *