PTE คืออะไร?

หลายๆคนที่กำลังจะสอบ PTE คงหาข้อมูลมาบ้างแล้วคร่าวๆ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อการสอบภาษาอังกฤษตัวนี้มาก่อนคงได้เกาหัวแกรกๆกัน เพราะแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน นอกจากความงงงวยจะบังเกิดในทันที คำถามหลายข้อก็คงถาโถมพร้อมกันในทันใด ‘มันคืออะไร?’ ‘มันเป็นชื่อสสารทางวิทยาศาสตร์หรือทางเคมีหรือเปล่า?’ ‘มันย่อมาจากอะไร?’ ‘สอบภาษาอังกฤษ PTE มีบนโลกนี้ด้วยหรอ?’

 ไม่แปลกหรอกที่มีคำถามเหล่านี้ผุดขึ้นมาในหัว เพราะนักเรียนไทยที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ หรือแม้คนที่สอบภาษาอังกฤษเพื่อการย้ายถิ่นฐานมักจะเลือกสอบภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงมายาวนานเช่น IETLS หรือ TOFEL ส่วนผู้คนที่จะก้าวขาเข้าสู่ชีวิตการทำงาน หรือมีใบคะแนนภาษาอังกฤษไว้ติดตัวเพื่อเปลี่ยนงานและเงินเดือนที่มากขึ้น ก็มักจะสอบ TOEIC กัน … ในบทความนี้จะเป็นการอธิบายว่า PTE คืออะไร และมีลักษณะเป็นอย่างไรเพื่อให้ผู้อ่านและผู้ที่กำลังหาข้อมูลได้นำไปพิจารณาทางเลือกในการสอบภาษาอังกฤษที่เหมาะกับตัวเอง 

 PTE ย่อมาจาก Pearson Test of English โดยจะมีประเภทการสอบ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 4 รูปแบบ

  1. PTE Academic 
  2. PTE Academic UKVI
  3.  PTE General
  4. PTE Young Learners

จากที่ myPTEjourney ได้สอบ PTE ครั้งแรกเมื่อปี 2019 จะมีแต่การสอบประเภทข้อ 1,3 และ 4 สำหรับ PTE Academic UKVI เป็นตัวที่เพิ่มมาหลังสุด ส่วนตัวคาดว่าน่าจะมีการปรับเพิ่มรูปแบบการสอบให้มีความทันสมัย สอดคล้องไปกับแวดวงการศึกษาที่มีนักเรียนชาวต่างชาติไปเรียนต่อต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสมือนกับ IETLS ทีี่มีทั้ง IETLS Academic และ IETLS UKVI (IETLS UKVI ค่าสอบมหาโหด) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทาง myPTEjpurney จะอธิบายเกี่ยวกับ PTE Academic เป็นหลัก เนื่องด้วยเป็นการสอบที่คนทั่วไปใช้สอบกันมากที่สุด โดยเฉพาะความต้องการในการนำคะแนนไปยื่นกับมหาวิทยาลัยที่เปิดรับ หรือใช้คะแนนเพื่อยื่นสมัครโครงการการย้ายถิ่นฐานไปประเทศอื่นตามแต่ที่กำหนด

PTE Academic มีชื่อเต็มว่า Pearson Test of English Academic เป็นการสอบโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในการทำข้อสอบ (computer-based) นั่นหมายถึงคุณจะได้โต้ตอบกับคนจริงๆแค่ตอนรอเข้าห้องสอบ เวลาขอเข้าห้องน้ำ และตอนออกจาห้องสอบเท่านั้น (ก่อนออกจากศูนย์สอบ เจ้าหน้าที่คุมสอบจะยื่นแผ่นกระดาษ A4 สีขาวให้คุณ 1 แผ่น เพื่อทำความเข้าใจว่าคะแนนจะออกภายในกี่วัน หากมีปัญหาต้องทำอย่างไร ฯลฯ) ข้อสอบ PTE ถูกออกแบบมาเสมือนสิ่งที่นักเรียนจะต้องเจอจริงๆในขณะที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นแล้วข้อสอบจึงเป็นการผสมผสานแต่ละทักษะเข้าไว้ด้วยกัน  ยกตัวอย่างเช่น

สิ่งที่ต้องเจอในช่วงปีการศึกษา ข้อสอบ

การเลคเชอร์ในห้องเรียน

Re-tell lecture

ข้อสอบจะให้ฟังเสียงที่อัดมาจากสถานที่จริงหรือดูวิดิโอ จากนั้นให้เราสรุปเลคเชอร์นั้นโดยการเล่าให้ฟัง

ทักษะที่ต้องใช้ : ฟัง, เขียน, พูด

การสรุปใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่าน

Summary written text

หลังจากที่อ่านบทความ เราต้องเขียนสรุปเนื้อเรื่องให้อยู่ระหว่าง 5-75 คำ 

ทักษะที่ต้องใช้ : อ่าน, เขียน

การอธิบายกราฟหรือไดอะแกรม

Describe Image

ข้อสอบจะมีรูปภาพหรือกราฟมาให้ เราต้องอธิบายรูปภาพเหล่านั้นออกมาตามที่เราเข้าใจ ภายในเวลาที่กำหนด

ทักษะที่ต้องใช้ : อ่าน, พูด

 

จะเห็นได้ว่าจากตัวอย่างข้อสอบที่ยกมาข้างต้น เป็นการจำลองสถานการณ์จริงที่เด็กนักเรียนนอกจะต้องเจออย่างแน่นอน จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่าข้อสอบ PTE เป็นข้อสอบเชิงบูณาการ เพราะในชีวิตประจำวันจริงๆแล้ว เราคงไม่ได้เจอทักษะใดทักษะหนึ่งอย่างเดียว เราคงไม่ได้นั่งฟังอาจารย์สอนในห้องเลคเชอร์กันเพียงอย่างเดียวทั้งวัน เพราะเราต้องฟังและจดเลคเชอร์เนื้อหาในคาบนั้น และบางครั้งผู้สอนก็อยากจะฟังความคิดเห็นของนักเรียนที่อยู่ในชั้นด้วย ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้เจิดจรัสโดยการวิเคราะห์สิ่งที่เราได้เรียนออกมาเป็นคำพูดให้คนในชั้นได้ฟังกัน

จริงอยู่ที่บางช่วงเวลานอกห้องเรียนเราอาจจะอ่านหนังสือหรือเปเปอร์งานวิจัยคนเดียวเงียบๆ  หรือลองฝึกซ้อมพูดพรีเซ้นท์งานคนเดียวอยู่หน้ากระจก แต่ช่วงเวลาอื่นๆมันคงจะไม่เป็นแบบนี้อยู่เสมอหรอก ลองนึกภาพเวลาทำงานกลุ่ม ไหนจะต้องคอยตีโทย์อ่านทำความเข้าใจกับงานที่ได้รับมา จากนั้นเข้ากลุ่มสุมหัวระดมความคิดกับเพื่อนๆ แสดงความคิดเห็นและไอเดียของเรา พร้อมกับรับฟังความเห็นอื่นๆไปในทีเดียว หรือบางท่านที่ไม่ได้เป็นนักเรียนแต่มาทำงานที่ต่างประเทศคงต้องเจอมากกว่า 1 ทักษะในการทำงานแต่ละวัน แต่ละชั่วโมงอย่างแน่นอน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ PTE รวบรวมหลายๆทักษะที่ ‘ผสมผสาน’  ออกมาเป็นข้อสอบ ตรงนี้ยิ่งทำให้เราเห็นชัดขึ้นมาว่าข้อสอบต่างจาก IETLS แทบจะโดยสิ้นเชิง

ข้อสอบ PTE Academic แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. Speaking และ Writing (ใช้เวลาประมาณ 77-93 นาที)
  2. Reading (ใช้เวลาประมาณ 32-41 นาที)
  3. Listening (ใช้เวลาประมาณ 45-57 นาที)
 
สำหรับเนื้อหาในบทความหน้าจะมาแบ่งให้ดูว่าแต่ละพาร์ทย่อยมีข้อสอบแบบไหนบ้าง มีลักษณะเป็นอย่างไร จะได้สร้างกลยุทธ์ในการทำข้อสอบและพิชิตคะแนนในฝันกัน…