ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : –
ชื่อภาษาไทย : หญิงร้าย
เขียน : วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล
แปล : –
สำนักพิมพ์ : ยิปซี กรุ๊ป
จำนวนหน้า : 256 หน้า
ISBN : 9786163016706
ภาษา : ไทย
ราคาปก : 265 บาท
ได้เวลาออกจากบ้านไปทำธุระที่เซ็นทรัลบ้าง ปรับเปลี่ยนบรรยากาศในช่วงโควิด-19 ช่วงนี้การระบาดยังอยู่ที่ 4,000 กว่าๆ ไม่ได้ไปเดินเล่นสบายอารมณ์เพราะไม่กลัวโควิดนะ แต่ว่าต้องออกไปทำธุระที่ธนาคาร ระหว่างเดินอยู่ชั้นล่างก็เป็นบู๊ทขายหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ สำนักพิมพ์ยิปซีก็อยู่ด้านที่เราเดินพอดีเลยได้แวะเข้าไปทักทายเสียหน่อย ตอนแรกว่าจะซื้อหนังสือเกี่ยวกับสงครามโลก เดินไปด้านข้างก็กะว่าจะซื้อหนังสือเกี่ยวกับความเป็นมาของเทพนิยาย แต่เล่ม ‘หญิงร้าย’ มันเตะตาเราเหลือเกิน เห็นหน้าปกแล้วมันก็อดชวนสงสัยไม่ได้ว่าจะร้ายได้สักแค่ไหน ยิ่งปกหลังเขียนบรรยายว่าเนื้อหาในเล่มนี้ได้รับ ‘รางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2559’ ไม่ใช่แค่ดีธรรมดา แต่ดีมาก
ความคิดเห็น
ถึงหนังสือเล่มนี้จะชื่อว่า ‘หญิงร้าย’ แต่เจตนารมณ์ของผู้หญิงไม่ได้ต้องการให้ผู้อ่านตัดสินว่าหญิงคนนั้นดีไม่ดี แต่เป็นการสะท้อนมโนทัศน์ของผู้คนในช่วงรัชสมัยต่างๆ ซึ่งมักเกิดจากสภาพสังคม ความคิด อารยธรรมและส่วนอื่นๆที่ประกอบเข้าด้วยกันจนนำพาไปสู่การตั้งกรอบว่าหญิงนั้นดีหรือไม่ดีตามแต่ละสภาพสังคมของแต่ละยุคสมัยผ่านการเล่าเรียงร้อยคำใน 4 บทใหญ่ (ไม่รวมบทส่งท้าย) ที่ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลมาให้ผู้อ่านอย่างเราได้ย้อนกาลเวลาเพื่อให้เห็นสภาพของผู้หญิงในสมัยนั้น
บทที่ 1
เป็นการเกริ่นนำตามการเขียนวิทยานิพนธ์ ว่าด้วยเรื่องราวต่างๆในสมัยก่อนที่มีการจำกัดสิทธิของสตรีทั้งในสถานะผู้หญิงที่เป็นพลเรือนและหญิงในสังคมชั้นสูง กล่าวถึงกฎหมายตราสามดวงที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของหญิงที่ดีละหญิงที่เลว ไปจนถึงบทลงโทษหากหญิงนั้นทำความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำผิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น การคบชู้ การแต่งงานใหม่ การนำเอาหญิงแพศยาหรือหญิงไม่ดีมาเป็นภรรยา
พจนานุกรมในสมัยก่อนที่มีคำจำกัดความคำด่าหญิงเลว และยังมีคำหลายคำที่ใช้กันจนถึงปัจจุบัน คำบริภาษเช่นนั้นไม่เพียงแต่ไว้จำกัดความแก่หญิงที่ประพฤติผิดทางเพศในสังคมสมัยนั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้หญิงที่กระทำการอันใดผิดแผกไปจากจารีตสังคมเช่นกัน
ในบทนำนี้ยังทำให้เราทราบถึงมุมมองของชาวต่างชาติที่ได้มาประจำการ มาอยู่อาศัยในดินแดนสยามที่มาอยู่เป็นเวลานานจนเข้าใจขนบธรรมเนียมของชาวเรา และความคิดเห็นของชาวตะวันตกบางท่านที่ได้เห็นการปฏิบัติกับหญิงชาวไทยเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ อย่างไรเสียบันทึกของชาวตะวันตกเหล่านี้ก็ได้ใส่ความคิดเห็นของตนเองไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสังคมไทยในสมัยก่อนนั้นเป็นสังคมชายเป็นใหญ่และเป็นระบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ จึงอาจเป็นที่ขัดหูขัดตาชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาคริสต์ไม่มากก็น้อย
บทที่ 2
ว่าด้วยเรื่องอำนาจการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่ผ่อนปรนแก่ผู้หญิงมากขึ้น ความผ่อนปรนนี้กระจายในหมู่สามัญชนเสียส่วนใหญ่ แต่หญิงชาวสยามยังต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจอิศระของผู้เป็นชายอยู่ ในขณะเดียวกันสำหรับหญิงในสังคมชั้นสูงแล้ว ความเคร่งครัดตามจารีตประเพณีที่สืบทอดมามิได้ลดหย่อนผ่อนปรนใดๆ ในทางตรงกันข้ามระเบียบจารีตนั้นเข้มข้นกว่าหญิงสามัญชนอยู่มาก ตามเนื้อหาในหนังสือ หญิงชนชั้นสูงได้แก่ ผู้หญิงกลุ่มพระภรรยาเจ้า ผู้หญิงกลุ่มเชื้อพระวงศ์ และผู้หญิงที่เป็นพนักงานในราชสำนักฝ่ายใน โดยหากทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องในกามแล้วจะโดนลงโทษฐานหนักกกว่าสามัญชนอยู่มาก ถือเทียบเท่ากับการเป็นกบฏ
อำนาจอิศระ จึงเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจปกครองและผู้ที่อยู่ใต้อำนาจปกครอง ไม่ได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอิสรภาพและเสรีภาพดังที่เข้าใจกันในปัจจุบัน
หญิงร้าย
ไม่เพียงแต่กรณีศึกษาบุคคลจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนยังได้ยกตัวอย่างหญิงดี-หญิงร้ายในวรรณคดีของไทยที่ถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงไม่ดีที่มีชื่อเสียงในวรรณคดีเช่น นางวันทอง กากี โมรา อย่างไรเสีย ใช่ว่าตัวละครหญิงเหล่านี้จะมีแต่คนชี้หน้าว่าเป็นหญิงไม่ดีไปเสียหมด ในอีกมุมหนึ่งผู้เขียนได้กล่าวให้เราได้เห็นถึงเหตุผลที่ตัวละครเหล่านี้ได้เลือกกระทำการอันเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นการกระทำที่เลวทราม
ได้มีการวิเคราะห์ผู้หญิงชั้นสูงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่ดีในประวัติศาสตร์ถึงเหตุและการกระทำนั้น ซึ่งทุกตัวอย่างพบว่าการกระทำนั้นมีส่วนข้องเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจในราชสำนักอันทั้งสิ้น
บทที่ 3
พูดถึงประวัติศาสตร์ในช่วงรัชสมัยที่ 1 – 3 จากข้อมูลของพงศาวดารตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พระพุทธศาสนามีอิทธิพลอย่างยิ่ง เพราะพงศาวดารในยุดแรกนั้นอ้างอิงความผิดถูกจากหลักศาสนา ซึ่งผู้เขียนชี้ให้เราเห็นว่าพงศาวดารเป็นการเขียนที่เขียนขึ้นโดยผู้ชายและจากมุมมองของชายเพียงฝ่ายเดียว ฉะนั้นแล้วข้อมูลของผู้หญิงที่ถูกจารึกไว้ในพงศาวดารจึงถูกตัดสินโดยผู้ชาย โดยส่วนใหญ่แล้วข้อมูลที่ว่าด้วยเรื่องหญิงไม่ดีในพงศาวดารมักมีส่วนเกี่ยวข้องในทางอำนาจของการเมืองและเศรษฐกิจของไทยในสมัยนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏว่าหญิงชนชั้นสูงมิได้เป็นเพียงแค่บาทบริจาริกาของชายผู้เป็นใหญ่กว่าอย่างเดียว แต่หญิงชนชั้นนำเหล่านี้ก่อให้เกิดเส้นใยทางอำนาจที่อาจสั่นคลอนราชบัลลังก์ได้
บทที่ 4
เป็นการกล่าวถึงช่วงรัชสมัยของรัชสมัยรัชกาล4 จนถึงปี 2477 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสยาม จารีตประเพณีในแดนตะวันตกได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศของเราอย่างมาก ความทันสมัยของโลกตะวันตกได้แผ่ปกคลุมประเทศสยาม โดยเฉพาะ ‘สื่อสิ่งพิมพ์’ ที่ทำให้ ‘ชนชั้นกลาง’ เข้ามามีบทบาทในสังคมและได้ผงาดขึ้นมากล้าวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐบาลและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม แน่นอนว่าหัวข้อเรื่องสิทธิสตรีได้ถูกนำมาถกกันมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชนชั้นสูงที่ยึดระบบผัวเดียวหลายเมีย แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงเริ่มคลี่คลาย ‘อำนาจอิศระ’ ที่มีต่อราชสำนักฝ่ายใน และโทษในการประหารชีวิตเริ่มผ่อนคลายลงอย่างมาก
วิทยาการการพิมพ์ทำให้กลุ่มคนชั้นกลางเริ่มมีอิทธิพลต่อสังคมสยาม
หญิงร้าย
บุคคลในประวัติศาสตร์ที่เป็นทั้งหญิงชนชั้นสูงไปจนถึงพลเรือนธรรมดาได้ถูกนำมายกเป็นกรณีศึกษา แสดงให้เห็นถึงอริยะขัดขืนของหญิงที่มีต่อชายอันเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือตน ในรัชสมัยนี้น้อยนักที่หญิงสามัญชนจะถูกลงโทษเช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ ในช่วงเวลานี้หากเป็นหญิงสามัญชนทั่วไปจะถูกทำโทษโดยการประจานจากสังคม อย่างไรเสียหญิงในหมู่ชนชั้นสูงก็ยังถูกบีบรัดด้วยกฎของราชสำนักมากกว่าพลเรือนหญิงเช่นเดิม
ทศนคติที่มีต่อเพศหญิงของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเปลี่ยนไปมาก เนื่องด้วยอิทธิพลจากการที่ทรงใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ทรงมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเท่าเทียมของเพศสภาพหญิง และเน้นให้ข้าราชบริพารมีผัวเดียวเมียเดียวตามค่านิยมแบบวิคตอเรียน โดยทรงเน้นคุณสมบัติของผู้หญิงให้เป็นดั่งเพื่อนคู่คิดที่ส่งเสริมความก้าวหน้าของคู่ครอง
ในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหญิงชั้นสูงท่านหนึ่งที่ได้รับการจารึกไว้ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี โดยทรงเป็นอดีตพระคู่หมั้นของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากคำบรรยายของผู้ที่เคยได้พบปะกับท่านได้บอกว่าเป็นผู้หญิงที่คุยสนุก และมีความคิดที่เป็นหัวสมัยใหม่อยู่มาก เช่นการใส่รองเท้าส้นสูง การเข้านอนดึก และทรงยังเป็นผู้นำแฟชั่นอีกด้วย ทว่าท้ายที่สุดทรงโดนถอดยศพระคู่หมั้นและจำสนมเนื่องด้วยเรื่องเข้าถึงพระกรรณว่าทำกริยาดูถูกคนรับใช้คนสนิทของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีนัยยะสำคัญทางการเมืองที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีได้มีการกระทบกระทั่งกับขุนนางที่มีอำนาจสูงท่านนั้นจนเกิดการกล่าวโทษกันเกิดขึ้น
เชื่อได้เลยว่า ‘หญิงร้าย’ เป็นหนังสือที่นำมาจากวิทยานิพนธ์จริง ทั้งฟอนต์ การจัดเรียงรูปแบบ การจัดลำดับแหล่งอ้างอิงและคำที่ใช้ในการเขียนคือตามมาตรฐานการทำวิทยานิพนธ์จริงๆ เรียกได้ว่าเรากำลังอ่านวิทยานิพนธ์ฉบับย่อส่วนที่มีรูปปกหน้าปกหลังสวยๆ
เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ดูเผินๆเหมือนเป็นการเล่าเรื่องราวสมัยครั้งกาลก่อน ได้เห็นภาพ สถานะ และบริบทของสังคมของผู้หญิง และความคิด ทัศนคติที่ชายมีต่อหญิง ได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงในคุณค่าของตัวผู้หญิงที่เมื่อครั้งแรกเริ่มต้องอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย หากยังไม่แต่งงาน จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของบิดามารดา หากแต่งงานแล้วอำนาจตนเองก็ตกเป็นของสามีอย่างเลี่ยงเสียมิได้ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายเริ่มมีมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วชายก็ยังเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงอยู่ดีตามที่เราได้อ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6 ผู้หญิงเราหากมีความมั่นใจเกินไปอาจจะไม่ได้รับการลงโทษโดยตรงในทันที แต่จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อหน้าและลับหลังที่บังอาจทำตนเยี่ยงชาย ถือได้ว่าเป็นการลงโทษทางอ้อมที่สามารถเกิดผลกระทบได้เป็นวงกว้าง
ในศตวรรษที่ 21 นี้ เหล่าคนที่นิยมสิทธิสตรีได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้หญิงออกมามีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น กล้าทำตามตัวใจตัวเองมากขึ้น ทำไมจะต้องไปสนใจความคิดเห็นของคนรอบข้างด้วย แต่หากเราทำอะไรที่เกินงามมากไป สังคมก็ยังคงตัดสินเราเช่นเดิม อย่างโครงการ Free the Nipples ที่เรียกร้องให้ผู้หญิงด้วยกันจงภูมิใจในร่างกายของตนเอง และเสนอความเท่าเทียมในสังคม ถ้าผู้ชายโชว์หัวนมได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย แล้วทำไมผู้หญิงอย่างเราจะโชว์บ้างไม่ได้ล่ะ พอมีแคมเปญนี้ออกมาผู้หญิงหลายคนก็ออกมาสนับสนุน แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งถ้าเรามองย้อนมาที่ประเทศไทย เราคิดว่าแคมเปญนี้คงไม่ได้เดินต่อแน่ๆ เราคิดว่าน้อยคนนักที่จะเข้าร่วมด้วย เนื่องด้วย ‘บริบท’ ในสังคมไทยที่ไม่ยอมรับการไม่ใส่ยกทรงในที่สาธารณะ หรือแม้แต่การไม่ใส่ยกทรงในขณะที่อยู่กับคนแปลกกน้า
แต่…หากเป็นสังคมไทยในสมัยก่อนถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงไร้ยกทรง บางครั้งถึงกับเปลือยอกเสียด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนหนังสือ ‘หญิงร้าย’ ได้กล่าวไว้ว่าหนังสือนี้ไม่ได้มีเจตนาจะตัดสินผู้ใด แต่ต้องการจะให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของแต่ละยุคสมัยที่มีต่อผู้หญิง
จะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม หากวันหนึ่งประวัติศาสตร์ย้อนเวลากลับมาให้สาวไทยกลับมา No-bra เหมือนแต่ก่อน?
**********************
หน้าที่พิมพ์ผิด – ไม่มี
ไม่มีเลย ขอชื่นชมทั้งคนเขียนและกองบรรณาธิการที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่มีคำที่เขียนผิด อีกทั้งยังทำให้เรารู้ด้วยซ้ำว่าการเขียนที่ถูกต้องมันเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่อ่านแล้วยังมีส่วนที่ไม่ลื่นไหลเท่าไหร่ก็จะเป็นตรงที่มีการใช้ประโยคซ้ำไปมาอยู่บางครั้ง เช่น
หน้า 21 ชาวต่างชาติบางคนกลับมองว่าผู้หญิงสยามถูกกดขี่ ต้องรับภาระทำงานหนักเกินความจำเป็นเพราะความไม่เท่าเทียมกันทางเพศและระบบไร่ในสังคมศักดินา ซึ่งประโยคนี้เป็นประโยคเดียวกันกับในหน้า 22
หน้า 53 จะเห็นได้ว่าภาพของลูกสาวที่ไม่ดีในกฎหมายตราสามดวงจะไม่ร้ายแรงเท่ากับภาพของภรรยาที่ไม่ซึ่งประโยคนี้เป็นประโยคเดียวกันกับในหน้า 54