รีวิวปลายปี 2022

ออสเตรเลีย

เวลาผ่านไปเราก็เติบโตขึ้น ทั้งด้วยวัยและประสบการณ์ ส่วนตัวเรารู้สึกว่ายิ่งเป็นผู้ใหญ่มากเท่าไหร่ เวลาก็ยิ่งหมุนเร็วตามไปด้วย เกือบเมื่อ 6 เดือนที่แล้วเราได้ทำรีวิวกลางปี 2022 ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาครึ่งค่อนปีแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตั้งแต่ยังอยู่เมืองไทยและที่ออสเตรเลียซึ่งเราก็ไม่นึกว่าจะต้องมาอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ แต่เราก็พยายามเรียนรู้และปรับตัว พยายามจัดการอะไรหลายๆอย่างให้เข้าที่เข้าทางซึ่งมันทำให้เราได้เติบโตขึ้น ได้เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกนั้นจริงๆ 

เรียนอะไรไม่เรียน ดันมาเรียนต่อวิศวะเครื่องกล 
จากการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตที่ลาออกจากงานที่มั่นคงและจะได้ถูกโปรโมทในปีหน้า เราเลือกที่จะเดินทางและเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น Senior Engineer กลับมาเป็นนักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง แต่การกลับเข้าสู่รั้วมหาลัยฯในครั้งนี้เป็นการมาเรียนที่ต่างบ้านต่างเมืองที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะมีประสบการณ์ในการไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ได้ทุนไปเป็นวิศวะฯฝึกหัดที่ประเทศเยอรมนี แต่ก็ต้องยอมรับว่าการได้กลับมาเป็นนักศึกษาป.โทครั้งนี้ เราเองทั้งตื่นเต้น กังวล คิดเยอะ ฯลฯ มันเป็นความรู้สึกที่ผสมปนเปจนไม่รู้ว่าจะรู้สึกยังไง 

จากรีวิวกลางปี 2022 เมื่อวีซ่าออกแล้วก็เตรียมตัวเก็บกระเป๋าเพื่อเดินทางสู่ประเทศออสเตรเลีย ทุกอย่างในตอนนั้นวุ่นวายมาก เอาเป็นว่าสุดท้ายแล้วก็ได้บินมาออสเตรเลียกับคุณแม่ เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย พวกเรามาถึงประเทศออสเตรเลียกันวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 ในขณะที่มหาลัยฯเปิดวันที่ 4 กรกฎาคม โดยวันที่มาถึงเราได้ใช้บริการ Taxi Service ของมหาวิทยาลัยให้มารับที่สนามบินบริสเบน แต่เมื่อได้เห็นรถจริงๆนี่ไม่ใช่รถแท็กซี่ทั่วไป แต่มันคือรถเบนซ์สีดำ ซึ่งตัวนี้เราเข้าใจว่าทางมหาลัยคงมีดีลกับบริษัทรถรับส่งที่เป็นของเอกชน เรากับแม่ก็นั่งแท็กซี่ไปประมาณ 2 ชั่วโมง แท็กซี่จอดที่จุดหมายปลายทางซึ่งเป็นโรงแรมแบบมีอพาร์ทเม้นท์ส่วนตัวซึ่งเราได้บุ๊คไว้ตั้งแต่อยู่ที่เมืองไทย และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่เราได้มาถึง Toowoomba ซึ่งจะเป็นเมืองที่เราจะต้องใช้ชีวิตในขณะเรียนป.โทที่ออสเตรเลียอีก 2 ปี 

Taxi Service บริการแบบไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับ International Students

พาแม่เที่ยวออสเตรเลียครั้งแรก 
ยังจำได้เลยว่าตอนอยู่เมืองไทย พ่อกับแม่ถามเป็นระยะๆว่าอยากให้แม่ไปออสเตรเลียด้วยไหม? เอาตามตรงคือเราไปคนเดียวได้เพราะอย่างที่บอกไปข้างบนว่าเรามีประสบการณ์การไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศคนเดียวอยู่แล้ว แต่ใจลึกๆแล้วก็ต้องยอมรับว่าการที่มีสมาชิกในครอบครัวเราเดินทางไปด้วยมันทำให้เราอุ่นใจมากยิ่งขึ้น ไม่มีใครที่จะทำให้เราอุ่นใจไปมากกว่าคนในครอบครัว และส่วนตัวก็รู้แหละว่าแม่เขาเองก็อยากจะไปด้วย หลังจากได้วีซ่ามาแบบ multiple 3 ปี ตอนนี้คุณแม่เลยได้ไปมาลั้ลลาที่ออสเตรเลียไปเลยจ้า ส่วนใครอยากรู้ว่าเราเตรียมเอกสารและหลักฐานอะไรบ้างก็ไปดูในรีวิวก่อนหน้าได้เลยจ้า

เอาเป็นว่ารอบนี้พาคุณแม่มาก่อน ให้คุณแม่มาดูที่ดูทางว่ามหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ออสเตรเลียเป็นแบบไหนและเมืองที่เราอยู่เป็นอย่างไร ในรอบนี้เราก็อยู่ที่อพาร์ทเม้นท์ในตัวเมือง 1 อาทิตย์ ช่วงมหาลัยเปิดอาทิตย์แรกเราก็เข้าปฐมนิเทศ จากนั้นก็เดินสำรวจรอบตัวเมืองกับคุณแม่ ทำตัวเองให้คุ้นเคยกับบ้านเมือง ลองไปซื้อของที่ห้างให้รู้ว่าระบบที่นี่มันเป็นอย่างไร พออยู่ที่นี่ครบอาทิตย์ก็เข้าเมืองไปที่บริสเบน อยู่แถว Fortitude valley แล้วก็เดินช็อปปิ้งที่ Queen Street  ลากยาวไปจนถึงเดินผ่า Botanic Gardens ได้ถ่ายรูปกับ Brisbane Storey Bridge งานนี้แม่ไม่พลาดอยู่แล้วถ่ายรูปทุกงาน ก่อนกลับก็ซื้อของฝากตามธรรมเนียมสไตล์ไทยแลนด์ 

วันนี้ต้องไปส่งแม่ขึ้นเครื่องกลับเมืองไทย ยังจำความรู้สึกได้ดี ตอนที่เห็นแม่ที่เดินลงไปที่บันไดเลื่อนสนามบินบริสเบนขาออก อย่างของบ้านเรานี่บันไดวัดใจอยู่ที่สุวรรณภูมิก็คือจะเป็นบันไดเลื่อนขึ้นไป แต่ของที่นี่จะเป็นบันไดเลื่อนลงไปชั้นล่าง เห็นแม่เหมือนจะร้องไห้ ไอ้เราเองก็กลั้นไว้ ก็ได้แต่คิดในใจว่า ‘แหม่ เรามาเรียนนะ ก็แค่ 2 ปีเอง ไม่ได้มาอยู่นานสักหน่อย’ แต่ประสาทตาที่ค่อยๆเห็นแม่ลงบันไดเลื่อนลับตาไปมันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ‘จากนี้ไปก็จะมีแต่เราในประเทศออสเตรเลีย ประเทศที่เราไม่รู้จักใครเลยแม้แต่น้อย ประเทศที่เราไม่รู้จักอะไรเลย’ ซึ่งถึงแม้รู้ว่าจะได้เจอกันเร็วๆนี้แต่ใจมันก็อดร้องไห้อยู่ในใจไม่ได้จริงๆ (แอบร้องไห้เงียบๆบนรถบัสตอนขากลับด้วยแหล่ะเธอว์)

ปรับตัวกับการเรียน…อีกครั้ง
ทำงานวิศวะมาตั้ง 7 ปีให้มาเรียนวิศวะเครื่องกลอีกครั้งในระดับป.โทเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่มันไม่ง่ายเลยอ่ะ ข้อแรกเลย ป.ตรีเราไม่ได้เรียนวิศวะฯเครื่องกลมาโดยตรง เราจบแมคคาทรอนิกส์ ซึ่งหมายความว่าเราไม่ได้เรียน pure mechanical อยู่หลายตัวเลย ข้อที่สอง…จากการเป็นวิศวะนั่งโต๊ะมา 7 ปีแล้วต้องกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้งขอบอกเลยว่าเป็นการออกจาก Comfort Zone และ Safe Zone ที่ยิ่งใหญ่มาก ใหญ่จนตั้งตัวไม่ทัน ใหญ่จนแทบจะตกลงมาทับตัวเอง การเรียนในระดับป.โทสายวิศวะฯล้วนคือพื้นคุณต้องแน่นเพราะเขาจะไม่มีการปูพื้นให้แล้ว คือต้องเรียกจำ 1 2 3 ให้ได้เอง เพราะมาถึงปุ๊บมันคือ 6 7 8 ทำนองนี้ แต่ตอนนั้นคือลืมไปหมดแล้ว แค่ sin cos tan มุม 30 60 90 ยังลืมเลยว่ามันค่าเท่าไหร่ เมื่อก่อนตอนป.ตรีนี่ต่อให้ละเมอยังจำได้ จำได้หมดอ่ะ 😏 ข้อสุดท้ายคือระบบการเรียนการสอนของออสเตรเลียไม่เหมือนที่ไทยหากเทียบกับสมัยตอนที่เรายังเรียนป.ตรีอยู่ ที่นี่เป็นเน้นระบบส่งงานหรือที่เหล่านักศึกษามักจะเรียกติดปากกันว่า Assignment/ Assessment ซึ่งแต่ละวิชาก็จะต้องส่งประมาณ 3-4 assignment ต่อ 1 วิชาภายใน 1 เทอม ซึ่ง 1 เทอมก็จะอยู่ที่ประมาณ 4 เดือนกว่าๆ ละคิดดูสิว่าสำหรับนักศึกษาต่างชาติเขาบังคับเรียน 4 วิชาตัวหนึ่งเทอมก็คุณจำนวนงานกันเองละกัน (อย่านึกนะว่า 1 เทอมนี้จะยาว เปล่าเลย! ยิ่งงานส่งเดือนละครั้งกับ 4 วิชาจะทำให้คุณรู้สึกได้เลยว่า เวลามันผ่านไปเร็วมว๊ากกกก) 

สุดท้ายแล้วด้วยความที่ตั้งรับไม่ดีอันนี้ยอมรับตรงๆ ทำให้เราตัดสินใจดรอปวิชาที่ต้องใช้ไอ้โปรแกรม MATLAB นี้ไป เพราะจากคะแนนของงาน 2 ชิ้นแรกที่เห็นคะแนนแบบไม่ต้องเก่งเลขก็ยบอกได้เลยว่าไม่น่าจะผ่านแน่ๆวิชานี้ (ที่นี่ใช้คะแนนอิงเกณฑ์ล้วน ไม่ได้อิงกลุ่มเพราะฉะนั้นมันเดาได้แต่เเรกเลยว่าจะได้เกรดเท่าไหร่) เลยตัดสินใจ Withdraw ไป ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็รู้สึกว่าเราตัดสินใจถูกนะ ไม่งั้นน่าจะติด F แล้วก็ต้องเสียลงเรียนใหม่อยู่ดี

นอกจากนี้ด้วยความที่เรามาเข้าเทอม 2 แล้วมาเจอวิชาที่ไม่เคยเรียนอีกบอกเลยว่าเครียดมาก เครียดมากๆๆๆจริงๆ มาเจอวิชาอย่าง Renewable Energy หรือ Advanced Numerical Modelling ที่ใช้โปรแกรม MATLAB เขียนโค้ด โอ้พระเจ้า! คือตอนเรียนป.ตรีวิชาเขียนภาษา C ได้ D นี่ก็แทบจะกระโดดโลดเต้นอยู่แล้ว (เพราะไม่เคยชอบการเขียนโค้ดเลย) มาเจอ MATLAB จำได้แล้วว่าต่างคนต่างนั่งปรับทุกข์กับนักเรียนต่างชาติด้วยกันโดยเฉพาะเด็กที่มาจากอินเดีย 555+ ทั้งๆที่รู้นะว่าบ่นไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา ไหนจะเสียเวลาอีกต่างหาก แต่มันก็เป็นที่พึ่งทางใจอย่างหนึ่ง ❤️❤️  

สุดท้ายแล้วด้วยความที่ตั้งรับไม่ดีอันนี้ยอมรับตรงๆ ทำให้เราตัดสินใจดรอปวิชาที่ต้องใช้ไอ้โปรแกรม MATLAB นี้ไป เพราะจากคะแนนของงาน 2 ชิ้นแรกที่เห็นคะแนนแบบไม่ต้องเก่งเลขก็ยบอกได้เลยว่าไม่น่าจะผ่านแน่ๆวิชานี้ (ที่นี่ใช้คะแนนอิงเกณฑ์ล้วน ไม่ได้อิงกลุ่มเพราะฉะนั้นมันเดาได้แต่เเรกเลยว่าจะได้เกรดเท่าไหร่) เลยตัดสินใจ Withdraw ไป ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็รู้สึกว่าเราตัดสินใจถูกนะ ไม่งั้นน่าจะติด F แล้วก็ต้องเสียลงเรียนใหม่อยู่ดี

พบนักจิตวิทยาตัวต่อตัวครั้งแรกที่ออสเตรเลีย!
เราเคยใช้บริการพบนักจิตวิทยาผ่านทางออนไลน์มาก่อนแล้วประมาณ 2-3 ครั้งในชีวิต ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต แต่เหตุผลที่ใช้บริการนักจิตวิทยาในอดีตนั่นคือต้องการคำปรึกษาผ่านบุคคลที่ qualified ที่ไม่ได้รู้จักเรา เพราะเราอยากได้คำแนะนำแบบไม่มี bias 

ด้วยเหตุผลที่เรารู้สึกว่าเราตกอยู่ในสภาวะที่เราไม่สามารถควบคุมการเดินทางของตัวเองได้ เนื่องมาจากปรับตัวไม่ทันในระบบการเรียนการสอนของออสเตรเลีย เอาจริงๆคือรู้สึกโง่ ทำไมเราไม่เข้าใจอะไรเลยวะ? ทำไมเพื่อนในห้องเรียนมัน(เหมือน)เข้าใจ ตรงนี้แหละทำให้รู้สึกว่าเรานี่โง้โง่ รู้สึกว่าเพื่อนอยู่ใกล้เส้นชัยส่วนเรายังอยู่ตรงจุดเริ่มต้น งงว่าไอ้สูตรนี้มันมาจากไหนวะ? ทำไมตรงนี้เราไม่รู้เรื่องเลย อาจารย์อยากได้รายงานแบบไหน? อาจารย์ต้องการอะไรกันแน่? ไอ้ใบงานที่สั่งเราใช้นั่งเวลาอ่านเป็นชั่วโมงๆกับอีแค่กระดาษ A4 ไม่กี่แผ่น แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าเราต้องทำอะไร? ซึ่งเรารู้ตัวเองดีว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่อุปสรรคของเราเลยแม้แต่น้อย เราคิดว่าเป็นอย่างอื่นซึ่งเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร?? แล้วมันคืออะไรล่ะ? เราก็เลยตัดสินใจใช้บริการของมหาลัยที่มีนักจิตวิทยาขอให้คำปรึกษากับนักศึกษาที่นี่แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

เขาบอกเลยว่าเราคิดไม่ผิดเลยที่เราได้ใช้บริการนี้ การที่เราได้คุยกับนักจิตวิทยาเรารู้สึกว่าเขาช่วยสะท้อนให้รู้จักตัวเราเองมากยิ่งขึ้น ช่วยสะท้อนความคิดเราว่าตอนนั้นเรากำลังรู้สึกอย่างไรหรือคิดอะไร คือเขาไม่ได้ถามคำถามแบบเบิกทางให้เราเดินตามเลยแม้แต่น้อย แต่คำถามเขามันเหมือนกระจกที่ช่วยทำให้เห็นตัวเราชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราคิดว่านักเรียนต่างชาติหลายๆคนควรที่จะลองเข้ามาใช้บริการนี้ดู คือคุณไม่จำเป็นต้องเป็นจิตเภทที่จะเข้ามาใช้บริการนี้ แต่หากเมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกว่ามีความกังวล ความไม่แน่ใจ หรืออะไรก็ตามแต่ที่ส่งผลกระทบกับจิตใจไม่ว่าจะมากหรือน้อย การได้คุยกับนักจิตวิทยาจะทำให้เราก้าวเข้าสู่ความคิดของเราและมองเห็นตัวเราจากข้างใน ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจความรู้สึกนี้หรอก แต่พอผ่านมาแล้วมันเลยเข้าใจที่เขาบอกว่าเหมือนเห็นตัวเอง

ช่วงเวลาที่(ไม่)รอคอยสำหรับผลสอบเทอมแรก 
หลังจากที่ดรอปไป 1 วิชาผลสอบออกมาวิชาที่เหลือ 3 ตัว ได้ P มา 2 ตัว มี 1 วิชาได้ D โดยวิชาที่ผ่านมาได้และดีใจเป็นอย่างยิ่งคือวิชา Renewable Energy ยังจำได้เลยว่าตอนส่งงานที่สุดท้ายคือส่งเข้าไปในระบบตอน 6 หรือ 7 โมงเช้าทั้งๆที่ควรจะส่งตั้งแต่เที่ยงคืน 555+ พอส่งไปแล้วประมาณสัก 1 อาทิตย์ก็ตัดสินใจส่งอีเมลไปหาอาจารย์ระบายความกลัวกังวลให้อาจารย์ฟังว่ากลัวว่าจะไม่ผ่านวิชานี้เนื่องมาจากคะแนนรวมทั้งหมดของวิชานี้คือ 1000 คะแนน งานส่งตลอดวิชานี้คือ 3 ชิ้น  2 ชิ้นแรกรวมกันยังไม่ถึง 500 เลยรู้สึกว่าจะได้อยู่ประมาณ  400 เองมั้ง ความกลัวมันเลยเข้ามากัดกร่อนจิตใจ (ซึ่งเอาตามจริงมันก็ต้องควรกลัวแหล่ะ) แล้ววันที่อาจารย์ตอบเมลกลับมาวันนั้นคือไม่กล้าอ่านเลย (แล้วอาจารย์ตอบกลับเร็วด้วยนะ) รอไปประมาณ 3-4 วันถึงตัดสินใจเปิดอ่าน ซึ่งอาจารย์ตอบกลับมาว่างานชิ้นสุดท้ายของเราที่ส่งไปคือหนึ่งในชิ้นงานที่ดีที่สุดของนักเรียนทั้งคลาส ผมให้คุณผ่าน (P) แบบยังไม่เป็นทางการนะ…

คือตอบมาแค่นี้สั้นๆง่ายๆตรงประเด็นตามสไตล์ชาววิศวะ แต่ตอนนั้นคืออ่านแล้วใจเต้นตุบๆๆยิ้มแก้มปริไม่หุบเลย เพราะกว่าจะผ่านแต่ละชิ้นงานมาได้มันใช้ความพยายามมากจริงๆ ตอนแรกนึกว่าจะไม่ผ่านซะแล้ว แต่ในงานทุกๆชิ้นเราก็พยายามที่เรียนรู้ที่จะปรับตัวเอา comment งานที่ส่งไปก่อนหน้ามาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้คะแนนมันดีขึ้น ไม่ได้ไปบนบานศาลกล่าวอะไรทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้มาจากความพยายามของเราล้วนๆ ความพยายามในด้านการเรียน ความพยายามในด้านการปรับตัว ความพยายามที่จะผ่านให้ได้ด้วยสมองและสองมือของเรา 


จากการที่ได้คุยกับเพื่อนๆคนอื่นทำให้เรารู้ว่าระบบการเรียนการสอนการให้คะแนนที่นี่ไม่ได้เหมือนแบบที่บ้านเรา คือบ้านเราเรียนและเน้นสอบกลางภาคปลายภาค ส่วนที่นี่เน้นทำงาน เราขอไม่เรียกการบ้านนะเราขอเรียกว่ามันคืองานชิ้นหนึ่งเลย เพราะงานแต่ละชิ้นคุณจะต้องทำการวิจัยและค้นคว้าโดยต่อยอดจากที่อาจารย์สอนในห้องเรียน กับดักมันอยู่ตรงที่ว่ามันไม่มีใครมานั่งคอยเตือน คอยจ้ำจี้จ้ำไชว่าควรเริ่มทำหรือควรอยู่ตรงจุดไหน แต่คุณจะต้อง Balance จัดการเวลาให้ดีด้วยตัวเอง ว่าจะทำเมื่อไหร่เริ่มตอนไหนเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งเขามีตารางบอกว่าอยู่แล้วว่างานแต่ละชิ้นส่งเมื่อไหร่ คะแนนเท่าไหร่ เกณฑ์การให้คะแนนเป็นอย่างไร และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเทอมนึงมี 4 วิชาเพราะฉะนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับเราว่าจัดการเวลาได้ดีแค่ไหน 

สิ้นปีนี้มันทำให้เราเข้าใจว่าการต่อสู้ด้วยตัวเองบางครั้งบางทีมันก็หนักเกินไป เพราะฉะนั้นแล้วอย่าอายที่จะ Ask for help, if needed ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราขอให้คนอื่นมาทำสิ่งๆนั้นให้เราหรือแทนเรา แต่มันหมายถึงว่าเราจะต้องเรียนรู้ที่จะหา ‘ตัวช่วย’ เพื่อให้สิ่งนั้นมันบรรลุเป้าหมายไปได้ เช่นการได้คุยกับนักจิตวิทยาเพื่อเข้าใจตัวเรามากขึ้นซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าสภาวะนั้นเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไรและเรามีความคิดต่อสิ่งนั้นอย่างไร ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ทำให้เห็นทางออกภายในทีเดียวแต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เห็นภาพของสถานการณ์ชัดมากยิ่งขึ้น การได้คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่าย support นักศึกษาก็ช่วยให้เราเห็นตัวเลือกที่เหมาะกับเรามากขึ้น การได้คุยกับอาจารย์ทำให้เรารู้ว่าเอ๊ะ!มันมีอะไรแบบนี้ด้วยหรอ มันทำได้ด้วยหรอ แค่นี้เนี่ยนะ ประสบการณ์พวกนี้มันสอนให้เรากล้าขึ้น กล้าตัดสินใจ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเรื่องแค่นี้มันก็เป็นเรื่องง่ายๆ ใช่…มันไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยหากคุณพูดในมุมที่คุณไม่เคยมาอยู่ในสถานะเดียวกับเราหรือเคยผ่านสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว แต่เมื่อเราผ่านตรงนั้นมาได้มันทำให้เราขอบคุณตัวเอง แล้วก็อึ้งในตัวเองเหมือนกันว่าเฮ้ย!เราก็ผ่านมันมาได้นะ 🙂 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *