GTE ย่อมาจาก Genuine Temporary Entrant แปลเป็นไทยก็คือ ผู้เข้าประเทศชั่วคราวอย่างแท้จริง
GTE คือเอกสารตัวหนึ่งที่ผู้สมัครวีซ่า Subclass 500 เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียจะต้องยื่นเมื่อทำการสมัครวีซ่าประเภทนี้ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าเราตั้งใจจะไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียชั่วคราวเพียงเท่านั้น ไม่ได้คิดจะปักหลักลงฐานที่ประเทศนี้เพื่ออยู่ถาวร (เป็นนักเรียนก็เพื่อไปเรียน และกลับมาบ้านเกิด … จริงไหม?)
ตั้งแต่ออสเตรเลียเปิดประเทศเมื่อตอนปลายปี 2021 บวกด้วยกระแสโยกย้ายประเทศ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการทำงานที่ไม่จำกัดชั่วโมงสำหรับผู้ที่ถือวีซ่านักเรียน ทำให้หลายคนแห่แหนสมัครวีซ่า Subclass 500 เพื่อหมายไปประเทศออสเตรเลียตั้งแต่นั้น
ว่ากันว่าเมื่อก่อน การเขียน GTE ไม่ได้ยุ่งยากและไม่ได้สำคัญเท่าตอนนี้ แต่เมื่อกระแสย้ายประเทศกำลังมาแรง เกณฑ์การพิจารณาวีซ่าก็ดูจะเข้มงวดยิ่งขึ้น GTE จึงเป็นเอกสารที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเอกสารชิ้นสำคัญในการยื่นวีซ่านักเรียนประเทศออสเตรเลียเลยทีเดียว เพราะเจ้าหน้าที่สถานทูตจะรู้จักตัวตนเรามากขึ้นจากเอกสารชิ้นนี้
แน่นอนว่าเมื่อ GTE กลายเป็นพระเอกในการยื่นเอกสารขอวีซ่านักเรียนประเทศออสเตรเลีย ใครๆก็พูดถึงแต่ GTE รวมไปถึงคำถามอีกมากมายว่ามีหลักการเขียนอย่างไร ควรเพิ่มข้อมูลตรงนี้ไหม หรือควรจะลดตรงนี้ดี รวมไปถึงข้อสงสัยอื่นๆอีกมากมายที่ตอบกันไม่หวาดไม่ไหว จึงทำให้ Education agency อย่าง Beyond Study Center ตัดสินใจจัดงานสัมมนาออนไลน์เพื่ออธิบายไขข้อกระจ่างให้กับผู้ที่สนใจไปเรียนต่อประเทศออสเตรเลีย
มีหรือที่เราจะพลาดงาน workshop ดีๆ (และฟรีอีกด้วย! (อีกแล้วนะเรา) เพื่อทำความรู้จักและความเข้าใจว่า GTE คืออะไร? งานนี้เราไม่รีรอที่จะลงทะเบียนร่วมสัมมนาออนไลน์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
GTE Workshop online ครั้งนี้จัดขึ้นผ่าน ZOOM ซึ่งเป็นอะไรที่สะดวกมากๆสำหรับเรา เมื่อมีประกาศว่าจะมีสัมมนาฟรี จึงไม่รอช้ารีบกรอกแบบฟอร์มให้รายละเอียดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับตัวเอง จากนั้นรออีเมลคอนเฟิร์มเพื่อที่จะเข้าฟังในวันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2022 เวลา 16:00-17:00 น.
อันที่จริงแล้ว ก่อนเข้างานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ปัญหาคล้ายกับสัมมนาออนไลน์ : บัณฑิตใหม่ ทำงานต่างประเทศอย่างไร ให้รอดและรวย เนื่องจากเราหาอีเมลคอนเฟิร์มจากทาง Beyond Study ไม่เจอ หาอยางไรก็ไม่เจอจริงค่ะ เราแจ้งเขาไปทาง Line Official ส่งข้อมูลที่เราลงทะเบียนให้ แต่กว่าจะตอบกลับก็รอกันสักพัก เลยทักไปหาพี่เกมส์โดยตรง พี่เกมส์ผู้ซึ่งไม่เคยทำให้ผิดหวัง ตอบกลับรวดเร็วทันใจเหมือนครั้งก่อนที่เราเคยติดต่อไปสอบถามเรื่อง Work and Holiday Visa และผลสอบ PTE (จริงๆพี่เขาอาจจะเดินไปกระทุ้งเจ้าหน้าที่ให้ส่งเมลให้อีกที แห่ะๆ) ต้องขอขอบคุณพี่เกมส์จากใจจริงค่ะ
เมื่อล็อกอินเข้าสู่งาน พี่เกมส์ก็นั่งอยู่ตรงหน้าเด่นเป็นสง่า เพราะครั้งนี้พี่เค้าจะเป็นผู้บรรยายตลอดงานสัมมนาในครั้งนี้
พี่เกมส์เริ่มโดยอธิบายว่า GTE คืออะไร (หากใครสงสัยสามารถขึ้นไปอ่านบนย่อหน้าแรกสุดที่เราเขียนไว้ได้เลย) ซึ่งมันเป็นหนึ่งใน Requirements ที่ผู้สมัครวีซ่านักเรียนประเทศออสเตรเลียทุกคนจะต้องยื่น ไม่ยื่นไม่ได้นะ (จนกว่ากฎในการยื่นเอกสารวีซ่า Subclass 500 จะเปลี่ยนไป) ขอย้ำอีกครั้ง
สำหรับคนที่จะเรียนต่อป.โทที่ประเทศไหนก็ตาม myPTEjourney มั่นใจว่าทุกคนจะต้องรู้จัก SOP (Statement of Purpose) การเขียนเปิดตัวบรรทัดแรกแบบกระชากใจคนอ่าน ปิดตัวให้ประทับใจคนดู เพื่อเอาชนะใจ Admission officers จากผู้สมัครหลายหมื่นหลายพันคน เพื่อที่จะได้เข้าไปนั่งในมหาลัยฯชั้นนำของโลก! แต่กับประเทศออสเตรเลีย การเขียน SOP เพื่อเรียนต่อจะฉีกทุกกฎที่เคยมีมา เพราะ SOP คือ GTE ดีๆเองนี่เอง เพราะฉะนั้นลืมไปได้เลยกับ SOP ที่คุณเคยได้ยินมา (หมายเหตุ : ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และกฎในช่วงเวลานั้นๆ) เนื่องจากเหตุที่ตัวเองประสบพบเจอมาคือทุกมหาลัยฯที่เรายื่น Application เราจะต้องยื่น SOP ด้วย แต่หัวข้อใน SOP ที่ทางมหาลัยฯกำหนดมาให้มันคือหัวข้อเดียวกับการเขียน GTE เลยค่ะ พอมาฟังสัมมนาออนไลน์ที่จัดขึ้นโดย Beyond Study Center ซึ่งสรุปได้ว่า…
SOP = GTE
อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าการพิจารณาวีซ่าผู้ขอเข้าประเทศออสเตรเลียมีการเข้มงวดขึ้น ตอนนี้หลายโรงเรียนสอนภาษารวมไปถึงมหาวิทยาลัยต่างก็ขอดู GTE ก่อนเกือบแทบทั้งนั้น…
จากนั้นพี่เกมส์ก็แนะนำบริษัทของพี่เค้าเองว่าทำเกี่ยวกับอะไร และถึงแม้ Beyond Study Center จะมีเรทแสดงว่ายื่นวีซ่าให้นักเรียนผ่านถึง 96-98% แต่พี่เกมส์แจ้งไว้เลยว่าถึงอย่างไรก็ตาม เอเจ้นท์ไม่สามารถการันตีได้ว่าเคสวีซ่าจะผ่านทุกเคส (ตรงนี้เราขอเสริมด้วยตัวเองว่าเป็นเพราะการตัดสินใจและผลการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพราะฉะนั้นเตรียมเอกสารและเขียน GTEให้แน่นๆแต่แรกไว้เลยดีที่สุดค่ะ)
การเลือกคอร์สเรียนก็มีผล?
ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด การตัดสินใจในการเลือกระดับที่จะเรียนก็ส่งผลต่อการพิจารณาวีซ่าเช่นกัน ในส่วนนี้พี่เกมส์อ้างอิงถึง AQF ซึ่งย่อมาจาก Australian Qualification Framework คือนโยบายที่ใช้ในการวัดระดับและจัดมาตรฐานการศึกษาของประเทศออสเตรเลียมาอธิบายตามรูปด้านล่าง
สมมุติว่าคุณเรียนจบระดับปริญญาตรีสายบริหารการจัดการ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย หากพิจารณาตาม AFQ คุณสำเร็จการศึกษาเลเวล 7 แล้วเกิดอยากจะเรียนต่อในระดับ Certificate IV สาขา Project management ซึ่งถ้าหากดูจากรูปด้านบน การเรียน Certificate IV อยู่ในเลเวลที่ 4 หรือถ้าคิดว่าภาษาและความรู้เราแน่นพอ เลยเลือกที่จะลงเรียน Dipoma in Business ซึ่งระดับของ Diploma อยู่ที่เลเวล 5 ทั้งหมดนี้หมายความว่าคุณเลือกที่จะลดระดับการเรียนลง และยิ่งถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนสายเรียน คุณยิ่งต้องเตรียมเหตุผลให้ดี
ความสมเหตุสมผลคืออะไร?
เพราะโดยปกติแล้ว คนเราส่วนใหญ่มักจะเลือกเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และนี่คือสิ่งที่คุณจะต้องอธิบายให้ได้ใน GTE แต่กลับกัน หากคุณเรียนจบปริญญาตรีจากเมืองไทยสาขาอะไรก็ตาม แล้วเลือกที่จะไปไปเรียนต่อระดับปริญญาโทเพื่อที่จะได้ศึกษาเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น ลึกขึ้นกว่าตอนปริญญาตรี ก็เรียนได้ว่าเป็นเรื่องที่ make sense สำหรับการที่จะไปเรียนต่อ แต่หากจบปริญยาโทอยู่แล้วแล้วเลือกที่จะไปเรียนเรียนระดับปวช.หรือปวส. อันนี้อาจจะต้องเตรียมเหตุผลดีๆมาซัพพอร์ตค่ะ
อายุเป็นเพียงตัวเลข?
ข้อนี้ถูกต้องค่ะ การเรียนรู้ไม่มีจำกัดสำหรับอายุ แต่อยู่ดีๆทำไมคุณถึงอยากจะไปเรียนภาษาอังกฤษตอนอายุ 42? สิ่งที่คุณตัดสินใจจะทำ สิ่งที่ตัดสินใจจะเรียน ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ลองคิดดูเล่นๆนะคะ สมมุติว่าคุณอายุ 42 ทำงานบริษัทเอกชนมีเงินเดือนที่ดี สวัสดิการพอใช้ ทุกอย่างดูราบรื่นหมด แล้วทำไมถึงอยากจะไปเรียนภาษาอังกฤษในตอนนี้ ตรงนี้ต้องเขียนอธิบายเหตุผลให้ได้ค่ะ (ประสบการณ์ส่วนตัว ยังไม่เจอคนที่ทำงานมั่นคง รายได้ไม่ขัดสน อยู่ดีๆปุ๊ปปั๊ปลาออกเพื่อที่จะไป ‘เรียนภาษาอังกฤษ’ อย่างเดียว เรามักจะเจอคนที่ลาออกเพื่อที่จะไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น ป.โท เพื่อนำเอากลับมาใช้ในสายงานต่อไปในอนาคต)
นอกจากนี้ทางผู้บรรยายยังพูดถึงเรื่องการเงิน แน่นอนว่า ณ เวลานี้ภาษาไม่ใช่อุปสรรค แต่การเงินเนี่ยแหละที่เป็นอุปสรรค .ฮา. พี่เกมส์เล่าถึงเคสที่มีคนบอกว่าเอาเงินใส่เข้าไปตูมเดียวในบัญชี เพื่อให้ได้ตัวเลขใน Bank guarantee ออกมาสวยงาม และวันรุ่งขึ้นก็ถอนออกมาได้เลย แล้วก็เอาวิธีการนี้มาแชร์ให้กับคนอื่นๆในกลุ่ม และดูเหมือนว่าหลายคนก็ ‘คิดว่า’ มันทำได้
สิ่งที่คนอื่นบอกว่าทำได้ ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นวิธีที่ถูกเสมอไป
myPTEjourney
เพราะคำถามคือ หากเจ้าหน้าที่สถานทูตขอตรวจสอบการเงิน หรือต้องการดู Bank statement คุณจะทำอย่างไร? ใครตอบได้บ้าง?
ไปเรียนแล้ว จะกลับมาทำอะไร?
การวางแผนอนาคตของคุณควรจะเป็นอะไรที่จับต้องได้ ต้องเห็นภาพ ไม่ใช่เขียนอะไรลอยๆ เจ้าหน้าที่เค้ารู้นะว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง (แหม เจ้าหน้าที่เค้าอ่าน GTE กันมากี่ร้อยกี่พันเคสแล้ว ขนาดมีคนมาขอคำปรึกษาเราในการเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย เราถามเขาแค่ไม่กี่คำถามเรายังรู้เลยว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของเค้าคืออะไร (แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ตัดสินใครทั้งนั้น ใครมาปรึกษาก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ช่วยเท่าที่ตัวเองพอตอบได้ ^^)
แก่นแท้ของ GTE Workshop วันนี้คือ ‘ความสมเหตุสมผล’ และ ‘กรรมเก่า’ของคุณ (ขำๆนะ ^^) สิ่งที่เคยทำในอดีต สิ่งที่กำลังทำ กำลังเป็น ความผูกพันที่มีกับบ้านเกิด และการนำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาเพื่อกลับมาใช้ การเงิน ฯลฯ ทุกอย่างจะถูกนำมาพิจารณาในการขอวีซ่านักเรียนออสเตรเลีย ถึง GTE คุณจะเขียนเป๊ะเว่อร์วังขนาดไหน แต่หากคุณเคยเข้าร่วมกลุ่มการก่อการร้าย งานนี้ดูทรงแล้วทางการออสเตรเลียน่าจะจ้องเขม็งมาที่ Visa application ของคุณเป็นพิเศษ ดีไม่ดีนิ้วชี้คงพร้อมกดปุ่ม ‘ปฏิเสธ’ ในบันดล
นี่คือเนื้อหาหลักๆสำหรับการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่เราสามารถบอกเล่าเรื่องราว อธิบายถึงหลักเหตุผล ให้เจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นเห็นถึงแรงปรารถนาของเรา เห็นความตั้งใจจริงของเราว่าเราต้องการที่จะไปศึกษาหาความรู้จริงๆ โดยแสดงเจตจำนงว่าจะไปเรียนที่ออสเตรเลียและจะกลับมาเมืองไทยผ่านเอกสารที่เรียกว่า GTE ค่ะ
myPTEjourney ขอขอบคุณ Beyond Study Center ที่ได้จัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียน GTE ในครั้งนี้ด้วยค่ะ