ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : Such a Fun Age
ชื่อภาษาไทย : –
เขียน : Kiley Reid
แปล : –
สำนักพิมพ์ : Bloomsbury Publishing PLC
จำนวนหน้า : 320 หน้า
ISBN : 9781526612168
ภาษา : อังกฤษ
ราคาปก : ₤ 8.99
หนังสือเรื่อง Such a fun age ได้ถูกแนะนำบนเว็บไซต์ seventeen.com ว่าเป็นหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนผิวสีที่สมควรมีไว้บนชั้นหนังสือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งใน Longlisted ของ Booker Prize 2020 เขียนโดย Kiley Reid นักประพันธ์สัญชาติอเมริกัน เชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ชูประเด็นเกี่ยวกับเชื้อชาติและฐานันดร เนื้อหาในเรื่องไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง เพียงแต่ Kiley ได้ผนวกประสบการณ์การเป็นพี่เลี้ยงเด็กของเธอให้กับครอบครัวคนผิวขาวที่ร่ำรวยเข้าไปด้วย
เรื่องย่อ
ว่าด้วยเรื่องของหญิงสาวชาวแอฟริกัน-อเมริกันอายุ 25 นาม Emira Tucker ที่ทำงานพาร์ทไทม์เป็นพี่เลี้ยงให้กับครอบครัวผิวขาวที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและเต็มไปด้วยความอบอุ่นอย่างครอบครัว Chamberlain โดยค่ำคืนแห่งความวุ่นวายเกิดขึ้นเนื่องจากคนในซุปเปอร์มาร์เก็ตเข้าใจผิดว่า Emira กำลังลักพาตัว Briar สาวน้อยช่างจ้อวัย 2 ขวบแห่งตระกูล Chamberlain แต่ท้ายที่สุดก็มีหนุ่มหล่อร่างสูงเข้ามาปกป้องเธอ
เรื่องราวเหมือนจะคลี่คลาย แต่ทว่ากลับไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อคุณนาย Chamberlain และ Emira ต่างค้นพบความลับสุดช็อคของกันและกัน สิ่งต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในอดีตพร้อมหวนกลับมาอีกครั้ง การเดินหน้าเพื่อเผชิญหน้าความจริง หรือจะหันหลังให้กับอดีต การตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้การดำเนินชีวิตของทุกคนเปลี่ยนไป
ความรู้สึกหลังอ่าน
หลังอ่าน Such a fun age จบ เรารู้สึกว่าตัวละครในเรื่องค่อนข้างเป็น Hollywood สไตล์ อย่างแก๊งค์สมาคมคุณแม่ก็ประกอบไปด้วยตัวละครคุณแม่ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน, คุณแม่ชาวเอเชีย ผมดำ, คุณแม่พูดเก่ง ผิวขาว ผมแดง ตบท้ายด้วยลักษณะตัวละครที่จะขาดไปในวงการ Hollywood ไม่ได้ คือหญิงผมบลอนด์ ผิวขาว ซึ่งก็คือหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง – Alix Chamberlain
หนึ่งในตัวละครหลักผู้ซึ่งเป็นตัวแทนครอบครัวชนชั้นสูงอย่าง Alix Chamberlain ถูกปูมาว่าผู้หญิงที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีอันจะกินจากมรดกและเงินที่ได้มาจากการฟ้องร้อง และตัวเธอเองก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ไม่ได้มาเพราะโชค แต่มาด้วยเพราะความมุ่งมั่นของเธอ รู้จักการสร้างคอนเนคชั่น รู้จักพูด ที่ถึงแม้บางทีจะกลายเป็น word vomit ก็ตาม แต่เพราะอยากให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจ ถึงอย่างนั้นก็ตาม Alix ก็กลับกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจ เป็นคนที่มีความสับสนในตัวเอง เมื่อพอรู้ว่า Emira พี่เลี้ยงเด็กคนโปรดคบอยู่กับคนที่เคยทำลายความทรงจำช่วง High school ของเธอ ตัวละครตัวนี้เริ่มจุ้นจ้าน และเริ่มรู้สึกหวง Emira รู้สึกอยากครอบครองพี่เลี้ยงคนนี้ไว้แต่เพียงคนเดียว
ส่วน Emira Tucker นั้น บุคลิกของเธอช่างตรงข้ามกันกับคุณนาย Chamberlain เธอไม่รู้ว่าเธอชอบอะไร ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตตัวเองเมื่อเทียบกับเพื่อนรอบตัว เพราะสาววัยรุ่นคนนี้รู้ดีว่างานเป็นพี่เลี้ยงเด็กไม่ได้ทำให้เธอเห็นแสงปลายทางชีวิตที่จะประสบความสำเร็จความสำเร็จที่ปลายอุโมงค์เลยแม้แต่น้อย อีกทั้ง Emira เป็นคนพูดค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม เธอค่อนข้างที่จะเข้ากันได้ดีกับเด็กโดยเฉพาะ Briar ที่เธอทั้งรักและเอ็นดูเจ้าหนูน้อยคนนี้
And I have a job. I’m a nanny
Emira – Such a fun age
แต่ส่วนตัวเรารู้สึกอึดอัดกับตัวละครตัวนี้นะ อาจจะด้วยเพราะเวลาที่พยายามจะพูดคุยกับ Emira แต่เธอก็ทำเพียงแค่ถามคำตอบคำ ดูเหมือนไม่ค่อยอยากจะสนทนากับคนรอบข้างเท่าไหร่ ยกเว้นกับเพื่อนและคนรักของตัวเอง
อันที่จริงตัวละครหลักคือ 2 คนที่กล่าวไปด้านบน โดย Such a fun age ได้เล่าเรื่องผ่านมุมมองของคุณนาย Chamberlain และ Emira ส่วนชายหนุ่มตัวสูงที่ปรากฏตัวช่วยเหลือ Emira ในซุปเปอร์มาร์เก็ตเปรียบเสมือนตัวแถมที่มาเติมเต็มข้อมูลที่หายไปเสียมากกว่าเมื่อเขาก้าวเข้ามาในชีวิตของผู้หญิง 2 คนนี้…
หลังจากอ่าน Such a fun age จบ มันทำให้เราเห็นว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะวางตัวละครเพื่อให้เห็นถึง ‘ชนชั้น’ โดยการใช้ลักษณะทางกายภาพของสีผิวเป็นตัวกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจน ให้ Alix Chamberlian เป็นตัวแทนของคนชั้นบน ที่เรามักมีภาพจำถึงคนที่มีลักษณะผิวขาว ผมสีอ่อนอย่างสีบลอนด์ และให้ Emira Tucker เป็นตัวแทนของชนชั้นล่าง ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวนคนผิวสีที่ประสบความสำเร็จกับคนผิวขาวนั้นยังต่างกันมากนัก โดยวางให้ Emira ทำงานที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิตสักเท่าไหร่ อย่างการเป็น Babysitter งานที่นายจ้างจะเลิกจ้างเธอเมื่อไหร่ก็ได้
สิ่งที่ผู้เขียนได้ทำการ ‘ปฏิวัติภาพจำ’ เกี่ยวกับเชื้อชาติและผิวสีของใครหลายๆคนในหนังสือเล่มนี้ คือการใส่เรื่องราวถึงมี Relationship ในด้านความสัมพันธ์ของคู่รักระหว่างผิวสี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ไม่บ่อยนักแม้จะอยู่ในศตวรรษที่ 20 ก็ตาม ตรงจุดนี้เป็นการสร้างความขัดแย้งกับภาพจำ เราถือว่าทำใช้ได้เลย
เส้นเรื่องของหนังสือเล่มนี้ไม่หวือหวาเท่าไหร่ อย่างที่เราเกริ่นไปในขึ้นต้นว่ามันออกสไตล์ Hollywood จ๋า ที่ผู้กำกับมักจะยัดเยียดความเป็น International เข้ามาในหนังหลายๆเรื่อง และความบังเอิญที่เหมือนถูกขีดเส้นมาไว้แล้ว