Repeat Sentence พูดซ้ำประโยคที่ได้ยินให้เหมือนเดิมเป๊ะ!

นี่คือหนึ่งในส่วนที่คะแนนเยอะที่สุด! 

ขึ้นหัวข้อตรงนี้แล้วตาโตเลยใช่ไหม? อันที่จริงทาง Pearson มี Criteria ในการให้คะแนนออกมาอย่างเป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตาม การให้คะแนนต่อข้อในส่วนของพาร์ท Speaking ก็ยังถือเป็นเรื่องลี้ลับว่ามีการให้คะแนนเฉลี่ยแบบไหน แบ่งคะแนนแบบอย่างไร อัลกอริทึ่มมันทำงานอย่างไรนะ จนทุกวันนี้ผู้คนก็ยังไงไม่ทราบว่าแต่ละข้อในการสอบ PTE ให้คะแนนข้อละเท่าไหร่ อย่างไรเสีย ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับการให้น้ำหนักคะแนนในการสอบ PTE แต่ละ Task โดยอาศัยความน่าจะเป็นและแนวโน้มที่ทำให้ผู้คนเห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า Task : Repeat sentence เป็นหนึ่งใน Task ที่น้ำหนักคะแนนเยอะที่สุด! สมมุติฐานที่ตั้งขึ้นได้กล่าวไว้ว่า Pearson หากคุณออกเสียงในตำแหน่งที่ถูกต้อง คุณจะได้คำละ 1 คะแนนเลย! คือมันเยอะมากๆ อย่างน้อยๆประโยคหนึ่งก็มีประมาณ 10-12 คำแล้ว ถ้าเราพูดเหมือนโจทย์เป๊ะ หมายความว่าคะแนนสอบ PTE ของคุณไหลมาเทมาแน่นอน

ถึงแม้ว่าจะสมมุติฐานการให้คะแนนนี้จะไม่มีการรับรองใดๆจากทาง Pearson แต่หลายคนก็เชื่อจริงจังเชียวล่ะ แล้วถ้าถามว่าเราเชื่อไหม? – เราเชื่อ

เหตุผลที่เราเชื่อเพราะครั้งหนึ่งติวเตอร์ที่เราเคยเรียนด้วยได้พูดเกี่ยวกับการให้คะแนนใน Task นี้ไว้ว่าเข้าให้คำละ 1 คะแนน (ซึ่งเราคิดว่าติวเตอร์คนนี้ก็น่าจะได้อ่านเรื่องข้อสันนิษฐานเรื่องการให้คะแนนใน Repeat sentence มาเช่นกัน) ส่วนเหตุผลอีกข้อที่เราเชื่อ คือเกิดจากตอนที่เราหาข้อมูลเนี่ยแหล่ะว่าทำอย่างไรถึงจะได้มากกว่า 79 คะแนนในแต่ละพาร์ท แล้วก็ไปเจอข้อมูลชุดหนึ่งที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต ในข้อมูลนั้น เป็นการแบ่งเกณฑ์แต่ละส่วนให้ดูเลยว่าน้ำหนักการให้คะแนนจะไหลสู่ Task ใดบ้าง ละเอียดถึงขึ้นว่าเป็นจุดทศนิยม 2 หลักเลยทีเดียว โดยหลายคนได้นำหลักทฤษฎีสมคบคิดที่คิดค้นโดยเหล่ามนุษย์ผู้อยากพิชิตข้อสอบ PTE นี้ไปใช้ และพวกเขาก็ประสบความสำเร็จ! (นี่คือที่มาที่เราได้เกริ่นไว้ในย่อหน้าแรก)  ส่วนเหตุผลสุดท้ายคือเราได้ลองศึกษาทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวนั้น แล้วเราก็ลองเสี่ยงดูกับมันสักตั้ง ซึ่งผลคะแนน PTE ของเราออกมาเป็นที่พอใจอย่างมากในท้ายที่สุด! นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเชื่อว่าทฤษฎีสมคบคิดนี้อาจเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม myPTEjourneyอยากให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่า สิ่งที่เราได้กล่าวถึงด้านบนเกี่ยวกับทฤษฎีการให้คะแนนใน Repeat sentence เป็นเหมือนความเชื่อเท่านั้น เพราะไม่ได้มีหลักฐานยืนยันใดๆจากทาง Pearson ว่าคิดคะแนนอย่างที่พวกเราคาดเดากันไปต่างๆนาๆหรือเปล่า


Repeat Sentence คืออะไร?

ลักษณะของข้อสอบใน Task นี้ตรงตัวเหมือนกับชื่อของมันเลยค่ะ คือเราต้องพูดประโยคที่ได้ยินให้เหมือนเดิมอย่างไม่มีผิดเพี้ยน โดยเราจะได้ยิน recording เป็นประโยคสั้นๆ จากนั้นเราจะต้องพูดทวนซ้ำประโยคที่ได้ยินให้เหมือนเดิม  นั่นหมายความว่าหากโจทย์มีเสียง –s เราก็ต้องออกเสียง –s ให้เหมือนโจทย์ หรือหากมี –ed ก็ต้องพยายามออกเสียงให้ชัด จังหวะจะโคนและการเน้นน้ำหนักเสียงต้องพยายามให้เหมือนประโยคที่ได้ยิน  โดยใน Task ของ Repeat sentence จะมีโจทย์ประมาณ 10-12 ข้อ แต่ละข้อความยาวของประโยคที่ myPTEjourney ลองนับดู จะเฉลี่ยประกอบไปด้วยคำประมาณตั้งแต่ 8 ไปจนถึง 13 คำ

Repeat sentence อยู่ในพาร์ท Speaking แต่ Task นี้จะวัดทักษะทางภาษาอังกฤษของเราทั้ง Speaking และ Listening ค่ะ


แต่ละส่วนที่ปรากฏบนหน้าจอคืออะไร?

หน้าจอที่ปรากฏในส่วนของ Repeat sentence (รูปจาก Pearson PTE Academic Tutorial)

1) Instructions
คือคำแนะนำว่าเราจะต้องทำอย่างไรกับข้อสอบที่เราเห็นบนหน้าจอในขณะนี้ โดยข้อสอบ PTE ได้บอกไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้เข้าสอบได้เข้าใจอย่างง่ายที่สุดว่าต้องทำอย่างไร
You will hear a sentence. Please repeat the sentence exactly as you hear it. You will hear the sentence only once.
คุณจะได้ยินประโยค. โปรดพูดซ้ำให้เหมือนตามประโยคที่ได้ยิน. คุณจะได้ยินประโยคนั้นแค่เพียง 1 ครั้ง

2) Audio Status Box และปุ่มควบคุมเสียง
มีไว้เพื่อแสดงสถานะของโจทย์ที่เราจะได้ยินใน Repeat sentence มีระยะเวลานับถอยหลังโดยเริ่มนับถอยหลังที่วินาทีที่ 3 จากนั้นเราจะได้ยิน Recording เป็นประโยคสั้นๆ 1 ประโยค โดยประโยคแต่ละข้อจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณประโยคละ 3-9 วินาที
โดยปกติแล้วเราสามารถปรับระดับความดังที่หูฟังได้ แต่สำหรับ Audio Status Box ใน Repeat sentence จะมีปุ่มเพิ่ม-ลดระดับเสียงที่สามารถใช้เม้าส์เลือกระดับความดังได้เช่นกันค่ะ 

3) กล่องแสดงสถานะ Recording และเวลาให้เรารู้ว่าเริ่มพูดได้และใกล้หมดเวลาเมื่อใด (Recording Status Box)
มีไว้เพื่อแสดงสถานะว่าไมโครโฟนเปิดและปิดเมื่อใด และจะมีการบอกช่วงเวลาเราเป็นวินาทีให้เราเตรียมตัวก่อนที่เราจะพูด อีกทั้งยังมีการแสดงของแถบสีฟ้าให้เราทราบว่าเหลือเวลาประมาณเท่าไหร่ก่อนที่ไมโครโฟนจะปิด สิ่งเหล่านี้สำคัญเป๋็นอย่างยิ่งใน Repeat sentence เจ้ากล่องนี้จะมาทักทายเราเสมอเมื่อมีการพูดเข้ามาเกี่ยวข้อง โดย Recording status box ใน Repeat sentence จะมีการแสดงดังสถานะในช่วงต่างๆดังนี้

แสดงระยะเวลาให้เราเตรียมพร้อมก่อนก่อนพูด โดยเริ่มต้นที่วินาทีที่ 8
เวลานับถอยหลังจากวินาทีที่ 8 จนมาถึงวินาทีที่ 3 และจะถอยลงไปเรื่อยๆจนเปลี่ยนเป็น Recording

3.1) แสดงสถานะของระยะเวลาให้เราเตรียมพร้อมก่อนพูดซ้ำประโยคที่ได้ยิน โดยจะขึ้นว่า Beginning in __ seconds เป็นการแสดงระยะเวลานับแบบถอยหลังตั้งแต่วินาทีที่ 8 ไปเรื่อยๆจนถึงวินาทีที่ 0

หน้าจอแสดงสถานะ Recording

3.2) เมื่อเข้าสู่วินาทีที่ 0 สถานะของ Recording Status Box จะเปลี่ยนเป็น Recording ในทันทีพร้อมด้วยแถบสีฟ้าปรากฏขึ้น ใน Repeat sentence จะไม่มีเสียงสัญญาณปี๊ป! ใดๆ ให้เราได้ยิน เพราะฉะนั้นอย่าลืมตั้งสติ คอยสังเกต status เปลี่ยนเป็น Recording หรือยัง หรือสังเกตตรงแถบที่ฟ้าที่ค่อยๆขึ้นทีละขีดก็ได้ค่ะ ทั้งหมดนี้หมายความว่าไมโครโฟนของคุณเปิดแล้ว ให้คุณพูดได้เลย!



ตรงส่วนนี้อยากจะให้ท่านผู้อ่านตั้งใจอ่านกันสักนิด เพราะจะไม่สัญญาณเตือนใดๆเลย และมีข้อที่ควรระวังที่ไม่เหมือน Task อื่นอยู่ด้วย

  1. เมื่อไหร่ที่สถานะบน Recording Status Box เปลี่ยนเป็น ‘Recording’ จะไม่มีเสียง ปี๊ป! เราจะต้องสังเกต Recording Status Box ที่เปลี่ยนสถานะเป็น Recording ที่มาพร้อมกับแถบสีน้ำเงินเริ่มวิ่งพร้อมๆกันไปด้วย แต่ระวังอย่าพูดก่อนที่ Recording Status Box เปลี่ยนเป็น ‘Recording’ เด็ดขาด! เพราะไมโครโฟนยังไม่เปิด หมายความว่าระบบจะไม่บันทึกเสียงของคุณ!
  2.  หากเงียบเกิน 3 วินาที ไมโครโฟนจะปิดอัตโนมัติทันที
  3. เราแทบจะไม่มีเวลาจดสิ่งที่ได้ยิน เรามีเวลาแค่ 8 วินาทีที่จะเรียบเรียงประโยคที่ได้ยินในหัว เพราะฉะนั้นเอาเวลามาตั้งใจฟังดีกว่า หรือหากใครอยากจะจดคำเล็กๆน้อยก็พอทำได้อยู่
  4. ดูแถบเวลาสีฟ้าด้วยนะคะ เราต้องพูดให้จบก่อนที่แถบสีฟ้าจะวิ่งไปจนสุดแถบ หากวิ่งไปจนสุดแถบแล้วหมายความว่าไมโครโฟนผิดแล้วค่ะ แต่เอาจริงๆเราไม่ได้เป็นห่วงตรงนี้เท่าไหร่ เพราะทาง Pearson จะกำหนดเวลาให้พอดีใน Repeat sentence ไว้อยู่แล้วค่ะ
  5. เรามีโอกาสในการฟังและอ่านออกเสียงได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น!

ก่อนเริ่มอ่านออกเสียง
สูดหายใจเข้าให้ลึกๆ ตั้งสติ
Audio Status Box จะเริ่มนับถอยหลังในทันทีเมื่อเราเข้าสู่ Repeat sentence ส่วนตัวเราจะเพิ่มระดับเสียงใน Audio Status Box รอไว้ก่อน เพราะจะได้ยินเสียงตัวสะกดได้เคลียร์มากขึ้น อย่าลืมว่าเราต้องออกเสียงให้เหมือนโจทย์อย่างไม่มีผิดเพี้ยน การพูดตัวสะกดให้ชัด เสียงสูงเสียงต่ำจึงสำคัญอยู่ไม่น้อย

ช่วงเวลาที่ต้องพูดออกเสียง
อย่าลืมว่าใน Repeat sentence จะไม่มีเสียงสัญญาณปี๊ป! ใดๆ เพราะฉะนั้นต้องสังเกตสถานะของ Recording Status Box ให้ดี เมื่อใดที่เปลี่ยนเป็น ‘Recording’ และแถบสีน้ำเงินปรากฏ เราสามารถพูดได้เลย
พูดให้ชัด อย่ารีบ เร่ง รัว
ออกเสียงสูงต่ำให้เหมือนกับประโยคที่ได้ยิน
การเน้นเสียงของคำนั้นๆในประโยคก็เป็นเรื่องสำคัญใน Repeat sentence
อย่าลืมออกเสียงตัวสะกดจำพวก –s/-es/-ed

ใน Repeat sentence จะไม่มีเสียงสัญญาณปี๊ป! ใดๆ ให้เรารู้ว่าเราต้องเริ่มพูดได้แล้ว

myptejourney

จากหนังสือ PTE Academic. Pearson Test of English Academic from the Test Developers กล่าวไว้ว่า คะแนนของคุณจะได้เยอะมากขึ้นหากทำนอง (rhythm), วลี/กลุ่มคำ (phrasing), และการเน้นเสียง (stress) เป็นไปอย่างนุ่มนวลและมีประสิทธิภาพ จากการที่เราตีความและประสบการณ์ส่วนตัวนั่นคือ ไม่ว่าอย่างไรก็ออกเสียงให้เหมือนโจทย์ เพราะโจทย์ก็ออกเสียงได้เป็นไปตามธรรมชาติของคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่อยู่แล้ว


หลังจากอ่านออกเสียง
ให้คลิก Next ทันทีเพื่อป้องกันเสียงอื่นแทรกเข้าไปในไมค์


สิ่งต้องห้ามใน Repeat sentence หากอยากได้คะแนนดี!

👎 อย่าลืมว่าใน Repeat sentence จะไม่มีเสียงสัญญาณปี๊ป! ใดๆ ให้เรารู้ตัวว่าเริ่มอัดเสียงพูดของเราแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องสังเกต Recording Status Box ว่าเปลี่ยนเป็น ‘Recording’ มาพร้อมกับแถบสีน้ำเงินเริ่มวิ่งขึ้นพร้อมๆกัน เมื่อนั้นแหล่ะคุณจึงเริ่มพูดได้ 

👎 อย่าพูดก่อน Recording Status Box ว่าเปลี่ยนเป็น ‘Recording’ และมีแถบสีน้ำเงินวิ่ง อะไรก็ตามที่คุณพูดไปก่อนหน้าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น จะไม่ถูกอัดเสียงเอาไว้ คุณจะเสียคะแนนไปเลย

👎 หากถึงเวลาที่ Recording จริง แล้วมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอ่านผิด ลืมตัว –s ตกคำว่า and ไป กรุณาอย่าย้อนกลับไปพูดใหม่เด็ดขาด! พูดผิดแล้วก็ผ่านเลย อย่าไปพะวงกับคำที่อ่านผิดหรือมัวคอยพะวง หากใครติดนิสัยพออ่านผิดแล้วอยากกลับไปเริ่มใหม่ ขอให้เลิกนิสัยนั้นเสีย มันคือสิ่งต้องห้ามใน Repeat sentence เพราะ 1.คุณจะเสียคะแนนโดยใช่เหตุ สู้คุณกระโดดข้ามคำที่เรามไ่แน่ใจ คำที่เราไม่รู้ไปยังส่วนที่เราพูดได้ยังจะดีกว่า 2.คุณอาจจะไม่มีเวลาเหลือพอให้มานั่งพูดประโยคใหม่อีกรอบ  

👎 เอิ่ม…อ่า…เอ๋…อืม…ต้องไม่มีใน Repeat sentence! คอมพิวเตอร์จะบันทึกคำเหล่านี้แล้วจะพบว่ามันไม่มีคำพวกนี้ในโจทย์เลย เพราะฉะนั้นสตินะคะ…สติ หากคำนั้นฟังไม่ออก จำไม่ได้ ได้ยินไม่ชัด เราอยากใ้คุณไปอ่านวิธีการแก้ปัญหาของเราในส่วน !!แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับ Repeat sentence!!

👎 อย่าเงียบเกิน 3 วินาที มิเช่นนั้นไมโครโฟนจะปิดทันที ถ้าคิดอะไรไม่ออกจริงๆก็หาอะไรมาพูดเถอะนะ

👎 ไม่จำเป็นต้องเลียนสำเนียง (Accent) ของโจทย์ เราปรับสำเนียงของเราตามโจทย์ที่ให้ไม่ไหวหรอก เกิดโจทย์มาเป็นสำเนียงอังกฤษ อเมริกัน แคนาดา ออสเตรเลียสลับกันคนละข้อแบบนี้ล่ะแย่เลยน่ะสิ่ เอาที่เราพูดแล้วเป็นธรรมชาติที่สุด และเท่าที่เราศึกษาจากข้อมูลในหนังสือ ทาง Pearson ไม่มีการให้คะแนนเรื่อง Accent เหมือนหรือไม่เหมือนโจทย์นะคะ

👎ไม่กดปุ่ม ‘Next’ ทันทีหลังจากพูดคำตอบ เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะเวลาที่คุณหยุดพอแล้วยังปล่อยให้มัน record ต่อ ไมโครโฟนอาจจะไปจับเสียงของผู้เข้าสอบคนอื่นๆเข้ามาใน recording ของเราก็เป็นได้ ข้อนี้เราเคยพลาดมาแล้วในการสอบครั้งที่ 1 และ 2 ข้อนี้เป็นข้อที่กูรูหลายท่านมักจะย้ำเสมอ บางคนอาจจะไม่ได้นึกถึงผลกระทบตรงนี้ค่ะ


เราได้แนบ VDO ตัวอย่างของ Repeat sentence มาด้วยเพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน VDO นี้จัดทำโดยทาง Pearson เพื่อให้ผู้ที่ขะเจ้าสอบ PTE เข้าใจ Task นี้มากขึ้น

รูปแบบการทำข้อสอบ Repeat Sentence

ด้วยความเชื่อที่ว่า Repeat sentence คือส่วนที่มีน้ำหนักคะแนนเยอะที่สุด เราจึงเขียนทริค ให้สิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรไว้ค่อนข้างเยอะ เราไม่อยากให้ผู้เข้าสอบท่านอื่นๆพลาดท่าเหมือนเราในตอนสอบครั้งแรกๆ ที่ไม่ได้ใส่ใจกับส่วนนี้เสียเท่าไหร่ และนึกว่ามันจะง่ายขั้นปอกกล้วยเข้าปาก myPTEjourneyอยากให้ผู้ที่เข้าสอบ PTE ทำคะแนนกันได้เยอะๆตามที่หวังเอาไว้ หากใครมีเคล็ดลับอะไรดีๆก็อย่าหวงเลยนะคะ เอามาแบ่งปันให้คนอื่นๆกันต่อเถอะค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *