Overview PTE Part 3 : Listening

ยินดีด้วย! หลังจากที่คุณผ่านด่าน Speaking & Writing มาอย่างยาวนาน ฝ่าฝันพาร์ท Reading มาได้ด้วยความมุมานะ เราขอต้อนรับคุณเข้าสู่พาร์ทสุดท้ายของการสอบ PTE Academic อันแสนจะสุดหรรษา นั่นก็คือ Listening นั่นเอง และในบทความนี้ myPTEjourney จะมารีวิวให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นภาพรวมกันว่าในส่วนสุดท้ายของการสอบ PTE Academic เราจะเจอรูปแบบการทดสอบทักษะการฟังภาษาอังกฤษในระดับวิชาการแบบไหนบ้าง

ในพาร์ท Listening นี้คุณจะได้เจอกับข้อสอบบูรณาการในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง มีตั้งแต่การสรุปใจความสำคัญจากการฟังเลคเชอร์ ซึ่งเป็นเนื้อหาในระดับ Academic, ฟัง Recording แล้วเลือกคำตอบที่ถูกต้อง, ฟัง Recording เพื่อเติมคำตอบที่หายไปลงไปในช่องว่าง ไปจนถึงการฟังเพื่อเขียน Dictation! นี่แค่ยกตัวอย่างบาง Task มาเท่านั้นนะคะ 

นอกความรูปแบบข้อสอบที่หลากหลาย (ที่เป็นเรื่องปกติในการสอบ PTE) ใน Recording ในพาร์ท Listening ยังประกอบด้วยหลากหลายสำเนียงที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะสำเนียงของ Native speakers เท่านั้น แต่ยังรวมถึง Non-native speakers ด้วย – ก็แหงล่ะเนอะ จะไปเรียนต่อ ทำงานต่อที่เมืองนอกทั้งที เราคงต้องได้เจอภาษาอังกฤษหลากหลายสำเนียงอยู่แล้ว

แต่ไม่ใช่แค่ความหลากหลายของสำเนียงและรูปแบบ Task ในการสอบ PTE Academic ที่คุณจะได้เจอ ยังมีสิ่งเหนือความคาดหมายให้คุณต้องประหลาดใจ แล้วเอามือแนบอกพร้อมอุทานว่า ‘โว๊ะ! นี่มันเล่นกันอย่างนี้เลยเหรอเนี่ย!’ 

เซอร์ไพรส์ที่ผู้เข้าสอบทุกคนจะได้เจอคือ Recording ที่คุณได้จะได้ยินในห้องสอบนั้นมาจากการอัดเสียงจากสถานที่จริง การสัมภาษณ์ในงานสัมนาจริงๆ ไม่ได้เป็นเสียงที่เขาอัดในห้องอัดเสียงและแปลงเสียงให้ใสกิ๊งไพเราะเสนาะหู คือเป็นการอัดเสียงที่มาจากคนจริง สถานการณ์จริง ถ้าเกิดผู้พูดมีการกระเอมหรือสะดุดอะไรบางอย่างระหว่างพูด คุณก็จะได้เสียงเหล่านั้นด้วยแบบไม่มีการปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น ซึ่งตรงนี้แหล่ะที่ทำให้มันต่างจากพาร์ท Listening ของ IELTS อยู่มาก อย่างในการสอบ IELTS ถึงแม้ว่าสำเนียงของผู้พูดจะต่างกัน แต่ Recording ของเขานั้นชัดมาก ใสมาก คืออัดออกมาจากห้องอัดเสียงเลย ส่วน Recording ของ PTE ในพาร์ท Listening นั้นคุณภาพของเสียงที่ได้ยินเหมือนอยู่กันคนละฟากฝั่งกับ IELTS กันอย่างสุดขั้ว 

โชคดีอย่างคือใน Write from dictation เป็นเสียงที่อัดมาจากห้องอัด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเลยค่ะ

myPTEjourney ได้ทำการแยก Task แต่ละอันในพาร์ท Listening ไว้ตามตารางด้านล่างนี้โดยเราอิงจากหนังสือ Practice Tests Plus with key. PTE Academic from the test developers ว่าข้อสอบมีแบบไหนบ้าง แต่ละ Task มีประมาณกี่ข้อ และวัดทักษะส่วนใดบ้าง เราอยากให้ผู้ที่จะเข้าสอบทุกท่านทำการศึกษาไว้แต่เนิ่นๆเลยนะคะ รู้เขารู้เรานั้นดีกว่าการไม่รู้อะไรเลย อย่างน้อยเราจะได้มีเวลาเตรียมตัวรับมือ ฝึกปรือทักษะของเรา เพื่อที่จะได้คว้าคะแนนที่อยากได้มาอยู่ในกำมือด้วยความสามารถของเราเองค่ะ 

Part 3 : Listening
Listening (ระยะเวลาที่ใช้ทั้งหมด 45-57 นาที)
ประเภทข้อสอบ จำนวนข้อ อธิบายรูปแบบการสอบ ทักษะที่ใช้ในการให้คะแนน จำนวนข้อความ/ความยาวของ Recording
Summarize spoken text 2-3 หลังจากฟัง Recording แล้ว เราต้องการ summary ออกมา โดยเขียนให้อยู่ในช่วง 50-70 คำ การฟัง, การเขียน 60-90 วินาที
Multiple-choice, choose multiple answers 2-3 หลังจากฟัง Recording ให้เราเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่มีมากกว่า 1 ข้อ  (หลายตัวเลือก หลายคำตอบ) การฟัง 40-90 วินาที
Fill in the blanks (Listening) 2-3 Transcription ของ Recording ที่อยู่บนหน้าจอจะมีช่องว่างหลายช่อง เราต้องฟัง Recording เพื่อที่จะนำคำที่ได้ยินไปเติมในช่องว่าง การฟัง, การเขียน 30-60 วินาที
Highlight correct summary 2-3 หลังจากฟัง Recording ให้เราเลือกข้อ Summary ที่ตรงกับ Recording ที่สุด การฟัง, การอ่าน 30-90 วินาที
Multiple-choice, choose single answer 2-3 หลังจากฟัง Recording เราต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียวจากหลายตัวเลือก (หลายตัวเลือก 1 คำตอบ) การฟัง 30-60 วินาที
Select missing word 2-3 หลังจากฟัง Recording ผู้เข้าสอบต้องเลือกคำตอบที่ทำให้ประโยคสมบูรณ์ การฟัง 20-70 วินาที
Highlight  incorrect words 2-3 หน้าจอจะมี Transcription ของ Recording โดยในขณะที่เราฟัง Recording ให้เราเลือกคำใน Transcription ที่ผิดไปจากที่เราได้ยิน การฟัง, การอ่าน 15-50 วินาที
Write from dictation 3-4 หลังจากฟัง Recording ให้เราพิมพ์ประโยคที่ได้ยินให้ถูกต้อง การฟัง, การเขียน 3-5 วินาที

หมายเหตุ : ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2564 จำนวนข้อสอบในพาร์ท Listening จะลดลง โดย Summarize spoken text จะเหลือ 1-2 ข้อ, Multiple-choice, choose multiple answers เหลือ 1-2 ข้อ, Highlight correct summary เหลือ 1-2 ข้อ, Multiple-choice, choose single answer เหลือ 1-2 ข้อ และ Select mission word เหลือ 1-2 ข้อ เพราะฉะนั้นเวลาทำข้อสอบโดยรวมในพาร์ท Listening ทั้งหมดก็จะลดลงด้วยค่ะ จาก 45-57 นาที เหลือ 30-43 นาที สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ที่ >> PTE ทำไมเธอเปลี่ยนไป?

สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้เสมอ!

  • ผู้เข้าสอบ PTE จะได้ฟัง Recording แต่ละ Task เพียง 1 ครั้งเท่านั้น หากคุณฟังไม่ทัน ไม่ได้ยิน หรือฟังไม่เข้าใจ จะไม่มีการ Replay ให้ผู้เข้าสอบฟังอีกรอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม
  • ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อด้านบน เนื่องจากคุณมีสิทธิ์ได้ฟัง Recording ครั้งเดียว หากเกรงว่าจะจำใจความสำคัญได้ไม่หมด คุณยังมีสมุดทดและปากกาที่ทางเจ้าหน้าที่แจกให้กับคุณตั้งแต่ตอนเข้าห้องสอบค่ะ คุณอยากจะจดอะไรก็ได้ลงไปในสมุดตัวนี้ มีเนื้อที่ให้กับการจดอย่างเพียงพอแน่นอน
  • เวลาในการทำพาร์ท Listening ไม่มีแยกย่อยราย Task ให้ผู้เข้าสอบดูว่าข้อนี้จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่จะเป็นการให้เวลารวมมาทั้งพาร์ท Listening เลย (ยกเว้น Summarize spoken text เท่านั้นที่จะให้เวลาแยกออกมาข้อละ 10 นาที) สมมุติเช่น ข้อสอบในพาร์ท Listening รวมทุก Task มีทั้งหมด 20 ข้อ ทาง Pearson ก็จะให้เวลาผู้เข้าสอบมาตูมเดียวคือ 43 นาที เพราะฉะนั้นผู้เข้าสอบทุกท่านต้องแบ่งเวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อเองนะคะ 

เรื่องการแบ่งเวลาแต่ละข้อว่าควรใช้เวลาเท่าไหร่ ทาง myPTEjourney จะมาแชร์เป็น Overall ให้ดูเลยภายหลังว่าควรจะใช้เวลาเท่าไหร่กับแต่ละ Task เพราะเรื่องการบริหารจัดการเวลาในการสอบ PTE Academic เป็นเรื่องสำคัญมากๆ อย่างได้ปล่อยปละละเลยน้องเวลาของเราเลยนะคะ

สำหรับ myPTEjourney เราค่อนข้างที่จะชอบพาร์ท Listening เป็นพิเศษนะ อาจเป็นเพราะได้ฟังอะไรเพลินๆแล้วให้เลือกคำตอบ เสมือนกับการเล่นเกมส์อย่างหนึ่ง มีความสนุกบวกกับความตื่นเต้นพร้อมด้วยความกดดัน(อีกแล้ว)แต่ก็เพราะเจ้าพาร์ท Listening เนี่ยแหล่ะ ที่เป็นหนึ่งในเหตุผลใหญ่เลยที่ทำให้เราไม่ได้คะแนนตามหวังไว้ในการสอบครั้งก่อนๆ เหตุผลเพราะ ‘เหลือเวลาไม่พอ’ ที่จะทำ Task ในส่วนสุดท้ายของพาร์ทนี้ ซึ่งก็คือ Write from dictation และดูเหมือนว่าน้ำหนักคะแนนใน Task สุดท้ายนี้จะค่อนข้างมากเลยทีเดียว หากเทียบกับทุกพาร์ทในการสอบ PTE Academic! (การกระจายน้ำหนักคะแนนเป็นไปตามตามสมมุติฐานของผู้เข้าสอบ PTE หลายคน ไม่มีหลักฐานการกล่าวอ้างใดๆ กรูณาโปรดใช้วิจารณญาณนะจ๊ะ) ทำให้คะแนนของเราปิ๋วไปอย่างน่าเสียดาย แบบว่ากลับมาบ้านแล้วยังไม่หายโกรธตัวเองเลย

อย่างไรก็ตาม หลายๆคนที่เข้ามาอ่านข้อมูลในส่วนนี้แล้ว เราเชื่อว่าคุณสามารถเตรียมตัวให้พร้อมได้ค่ะ สำหรับใครที่ยังไม่ชินกับการสอบบูรณาการแบบนี้ ก็สามารถเอาไปซ้อมกันก่อนได้ ฝึกไปทุกวันๆเดี๋ยวก็ชินเองค่ะ อย่างเราสอบ 3 ครั้ง ยังได้คะแนนไม่สมดั่งใจหมาย เราเองก็แอบท้อนะคะตอนนั้น แต่เราเอาหัวพุ่งชนแล้วค่ะ ไม่ว่ายังไงก็จะทำให้ได้ จนมาประสบความสำเร็จในครั้งที่ 4  

มาค่ะ…รวมเดินทางไปกับ myPTEjourney ด้วยกันนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *