ในบทความก่อนหน้าเราได้รีวิวเกี่ยวกับบทเรียนประจำวันในแอปพลิเคชั่น ELSA ไปแล้ว บทความนี้จะเป็นการรีวิวส่วนเสริมโดยจะมีในด้านของประเภทเกม จริงๆแล้วเราว่ามันก็ไม่ได้เป็นการเล่นเกมส์ทีเดียวหรอก เพราะมันคือบทเรียนที่ให้ผู้ใช้แอปฯได้ลองฝึกพูดเหมือนบทเรียนที่ผ่านๆมา แต่เพียงแค่จะแยกออกมาเป็นหมวดหมู่เท่านั้น เช่นว่าจะฝึกเรื่องการออกเสียง เน้นเสียงสูงต่ำ หรืออยากเน้นเรื่องการฟัง มันจะรวมอยู่ด้วยกัน ที่ต่างจากบทเรียนอื่นๆก็จะมีพวกให้ฟังบทสนทนาจากวิดีโอ แล้วก็มีพวกประโยคแสดงเรื่องการเน้นเสียงสูงต่ำ ส่วนตัวเรามองว่ารูปแบบของแต่ละบทไม่ต่างกันมากเท่าไหร่ แต่มีบทเรียนเยอะมาก เยอะมากจริงๆ ชนิดที่ว่าเราเอานิ้วเลื่อนลงๆๆรัวๆกว่าจะเจออันสุดท้ายก็พักหนึ่งเลยหล่ะ
ในรูปไอคอนการสนทนา จะแยกออกเป็น News Feed กับชุมชน (Community) ซึ่งใน News feed ไม่ได้เป็นข่าวอัพเดตอะไร แต่จะเป็นพวกข่าวสารในตัวแอปพลิเคชั่นว่ามีหัวข้อไหนน่าสนใจบ้าง ถ้าคุณกดไปที่หัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง มันก็จะลิ้งก์ไปที่บทเรียนนั้นๆ สำหรับหมวด ‘ชุมชน’ น่าสนใจกว่าค่ะ เพราะมันคือ Community ที่รวมการถามตอบของผู้ใช้ ELSA คล้ายๆเว็บ pantip.com ที่จะแบ่งออกเป็นห้องๆ ต่างคนต่างมาตั้งกระทู้ถามตอบ อันนี้ส่วนตัวลองกดเข้ากระทู้เพื่อดูว่าเขาถามตอบอะไรกัน ส่วนใหญ่ก็จะมาโพสต์เสียงที่อัดไว้ว่าทำยังไงถึงจะได้คะแนนสูง เท่าที่เราฟัง เป็นเสียงที่อัดมาจากจริงๆ แต่ถ้าถามว่าเป็นหน้ามาที่มาตั้งกระทู้เพื่อให้บอร์ดไม่เงียบรึเปล่า? อันนี้ก็…น่าคิด
ส่วนในรูปไอคอนสุดท้ายที่เป็นรูปคนก็จะเป็นพวก Tracking ในการเรียนภาษาอังกฤษของเราว่าเรามีการพัฒนาการเท่าไหร่ ภายในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเรียนจบไปกี่บทเรียนแล้ว การพัฒนาการของเราก็ขึ้นอยู่กับความพยายามในการเรียนของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นทักษะอะไรก็ตาม ฝึกมากก็ยิ่งชำนาญมากค่ะ
myPTEjourney ก็รีวิวองค์ประกอบหลักๆใน ELSA ไปแล้ว ทีนี้ถึงเวลาชำแหละข้อคิดเห็นของแอปพลิเคชั่นนี้กัน!
ความคิดเห็นส่วนตัวที่คิดว่าเป็นข้อดี
ELSA จะช่วยให้คุณรู้จักหลักการอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง
มีการสอนเรื่องการเน้นเสียงว่าตรงไหนต้องเน้นเสียง ต้องเชื่อมเสียงแต่ละคำในประโยคอย่างไร หรืออย่างพวกเสียงปิดท้ายที่จะเกลาให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ออกเสียงได้ถูกต้องมากขึ้น เพราะวิธีการออกเสียงที่ยกตัวอย่างมาพวกนี้ไม่มีในภาษาไทย การได้ฝึกกับแอปฯนี้จะทำให้เราเข้าใจว่ามันต้องออกเสียงอย่างไรค่ะ
เรียนรู้คำศัพท์
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อดีของแอปฯสอนภาษาอังกฤษ คำศัพท์ต่างๆใน ELSA เป็นศัพท์ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงรูปประโยคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง จากที่เราได้ลองเล่นแอปฯนี้มาเกือบ 1 อาทิตย์ ส่วนใหญ่เรามองว่ามักจะเป็นคำศัพท์ขั้นพื้นฐาน ส่วนศัพท์ที่เป็นระดับ Academic ไม่เยอะเท่าที่ควร ถึงแม้ศัพท์เหล่านั้นจะถูกจัดไว้ในหมวด IETLS ก็เถอะ
มีแบบฝึกหัดให้เยอะมากๆ
แค่ในหมวด Mixed skills ก็มีหัวข้อตั้ง 23 หัวข้อ แล้วในแต่ละตัวก็มีจะบทเรียนย่อยๆลงไปให้ฝึกอีก รับรองว่ามีบทเรียนให้ผู้ใช้งานเยอะสุดๆ ฝึกพูดภาษาอังกฤษกันไปได้อีกหลายเดือนเลย
ความคิดเห็นส่วนตัวที่คิดว่าสามารถปรับปรุงให้ได้ดีกว่านี้
สิ่งที่คุณได้ยินคือปัญญาประดิษฐ์
ข้อนี้เราเห็นด้วยกับ English Hacks ว่าสำเนียงหรือ Flow ในการพูดใน ELSA มันไม่ใช่สิ่งที่ ‘คน’ จะพูดเสมอไป เพราะสำเนียงหรือเสียงที่คุณได้ยินนั้นมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สิ่งที่ ELSA สอนคุณ ถือได้ว่าเป็น ‘มาตรฐาน’ ในการออกเสียงภาษาอังกฤษหรือเปล่า? คำตอบคือ ‘ไม่’ แล้วอะไรคือสำเนียงหรือการพูดที่เป็นมาตรฐาน?
เอาจริงๆแล้วมันไม่มีคำว่ามาตรฐานหรอก เพราะสำเนียงในภาษาอังกฤษมีหลากหลายมาก หากอ้างถึงการพูดแบบบริติช ก็มีแตกออกมาอีกว่าจะเป็น Posh, Cockney, Yorkshire และอีกกว่า 30 สำเนียง อย่างสำเนียงในช่อง BBC เองนั่นก็เพียงแค่การเลียนสำเนียงการพูดของ Queen แห่งอังกฤษคนเดียวเท่านั้น ส่วนสำเนียงการพูดอเมริกันก็แตกออกไปเยอะแยะมากมายทั้งแบบ Western American หรือจะมาแนวพ่อหนุ่มคาวบอยขี่ม้าสำเนียง Southern American แล้วไหนจะภูมิภาคอื่นในอเมริกาที่มีลักษณะการพูดต่างกันออกไปอีก
เพราะฉะนั้นหากจะบอกว่า ELSA จะทำให้คุณออกเสียงได้ชัดเป๊ะเหมือน Native เลย เราไม่เห็นด้วยกับข้อนี้ เนื่องจาก Native เองก็ไม่ได้พูดชัดเท่านี้เลยค่ะ ลองนึกถึงภาษาไทยดูก็ได้ แบบเรียนที่ใช้สอนชาวต่างชาติจะเขียนว่า ‘สวัสดี สบายดีไหม’ ซึ่งในชีวิตจริงคนไทยเราไม่ได้ทักโดยการพูดชัดถ้อยชัดคำแบบนี้ทุกครั้ง อาจจะเป็น ‘สวัสดีค่ะ/หวัดดีค่ะ/หวัดดีจ้า เป็นไงบ้างล่ะ/เป็นไงบ้าง/บายดีป่าว’ จริงไหม?
เกณฑ์การให้คะแนนที่แม้แต่ Native ยังไม่ได้คะแนนเต็ม 100
หากใครได้อ่านหรือได้ดูรีวิววิดีโอใน ELSA ไม่ใช่เจ้าหญิง แต่เป็นแอปฝึกพูด จะเห็นว่า Billie พยายามออกเสียงให้เพี้ยน ยังได้คะแนน Excellent แต่ยังค่ะ…ยังไม่เท่าไหร่ ในวิดีโอของ John เจ้าของ YouTube ช่อง English Hacks ที่พยายามพูดเท่าไหร่ ก็ยังไม่ได้คะแนนเต็มสักที และที่น่าขำคือ เขาได้คะแนนในระดับ Advanced เท่านั้น ทั้งๆที่ตัวเขาเองน่ะฝรั่งของแท้เลย แต่ออกเสียงให้ชัดเท่าไหร่ยังไงก็ยังไม่ได้ 100%
เราเลยลองกับตัวเองบ้าง ซึ่งเราก็พยายามแล้วพยายามอีกที่จะออกเสียงประโยคหนึ่งให้ได้ แต่คะแนนมันก็ไม่ถึง 60% สักที เราจึงปล่อยวางและ Move on ต่อไป ถามว่าทำไมไม่พยายามให้ได้เต็มร้อยล่ะ? ก็เพราะว่า เราไม่ใช่วิศวกรคอมพิวเตอร์ เราไม่รู้จริงๆว่าเขาตั้งอัลกอริทึ่มไว้อย่างไร เสียงที่เราเปล่งออกไปจึงไม่ถูกใจตัวโปรแกรม .ฮา. อีกอย่างเรามั่นใจว่าเสียงที่เราออก อย่างน้อย Native เข้าใจเราแน่นอน เราไม่อยากเสียเวลาเพื่อให้โปรมแกรมฟังเราเข้าใจ เพราะจุดประสงค์คือทำอย่างไรให้ Native เข้าใจเรา (ข้อแนะนำสำหรับการฝึกพูดกับโปรแกรม เราเคยเขียนไว้แล้วใน โปรแกรมฝึกพูด)
คำแปลไทยที่แปลกๆ
ยกตัวอย่างเช่น Beat around the bush โปรแกรมแปลออกมาเป็นภาษาไทยว่า ‘ตีรอบพุ่มไม้’ ซึ่งจริงๆมันแปลว่าการพูดอ้อมค้อม อ้อมไปอ้อมมา ไม่เข้าเรื่องสักที หรือ You have my words ที่โปรแกรมแปลว่า คุณมีคำพูดของฉัน แต่ความเป็นจริงมันต้องแปลว่า ฉันให้สัญญากับคุณ คำพูดของฉันอยู่ในมือคุณ คือให้คำสัญญานั่นแหล่ะ แต่แอปฯ แปลออกมาได้ตรงตัวมาก แบบมากๆ ซึ่งพอเราเอาประโยคพวกนี้ไปวางใน Google translate ก็ชัดเลยจ้า เขาเล่นใช้ Google translate แปล
ตรงนี้อยากให้ผู้พัฒนา ELSA มาเห็น เราอยากให้จ้างคนแปลจริงๆ ผู้ใช้งานแอปฯจะได้ไม่จำอะไรไปผิดๆ
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ ELSA จะถูกใจหรือไม่ถูกใจนั้นขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ใช้ บางคนชอบ บางคนอาจไม่ชอบ แล้วแต่ใจของแต่ละคนเลยค่ะ ^^
เอาหล่ะค่ะ พร้อมหรือยังที่จะออกเสียง She sells seashells by the seashore!
2 Comments