ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : Invisible Women
ชื่อภาษาไทย : –
เขียน : Caroline Criado Perez
แปล : –
สำนักพิมพ์ : Vintage Publishing
จำนวนหน้า : 432 หน้า
ISBN : 9781784706289
ภาษา : อังกฤษ
ราคาปก : ₤9.99
ความคิดเห็น
เห็นหน้าปกแล้วก็มานั่งตั้งคำถามว่าทำไมผู้หญิงถึงได้กลายเป็นคนไร้ตัวตน มีสปอยล์บนหน้าปกว่า แฉความลำเอียงของข้อมูลในโลกที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ชาย ฟังดู Feminist สุดติ่ง เราเองก็อยากจะรู้ว่าโลกนี้มันสร้างมาเพื่อผู้ชายอย่างไร? แล้วผู้หญิงหายไปไหน? ทั้งๆที่พวกเราคือประชากรครึ่งหนึ่งของโลกใบนี้
หลังจากที่ได้หนังสือมาอยู่ในมือ หน้าแรกมีการเกริ่นถึงผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ Caroline Criado Perez หล่อนเป็น Feminist นักสตรีนิยมที่สร้างผลงานไว้ให้โลกได้จดจำ เธอเป็นตัวตั้งตัวตีจัดแคมเปญของกลุ่มสตรีนิยม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันให้มีพื้นที่สำหรับผู้หญิงบนธนบัตรของประเทศอังกฤษ ซึ่งในที่สุดเธอก็ทำสำเร็จ หากใครอยากเห็นก็ลองหาแบงค์ ₤10 ดู รูปของJane Austen ได้ประทับลงบนธนบัตรอังกฤษแล้ว คนไทยเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นตาคนไทยเท่าไหร่นักเพราะธนบัตรบ้านเราไม่เคยมีรูปผู้หญิงมาปรากฏก่อน ในหนังสือประกอบด้วย 6 บทใหญ่ๆ แต่ละบทใหญ่ก็จะแยกออกมาเป็นบทย่อยอีกที เราขอนำประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละบทมาบอกเล่าให้ฟังตามนี้
Part l : Daily life
ว่าด้วยเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้หญิงในมุมมองที่เราคิดไม่ถึง ใครจะไปนึกว่าเรื่องการวางผังเมืองมันเรื่องห้องน้ำสาธารณะ จุดคมนาคมขนส่ง การสร้างแหล่งชุมชนไม่ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้หญิงอย่างเราๆเลย ยกตัวอย่างในเรื่องของการเดินทาง จากการสำรวจผู้ชายมักจะไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์ แต่ผู้หญิงมักจะเดินทางด้วยรถสาธารณะมากกว่า ผู้เขียนยกตัวอย่างให้เรานึกภาพตามอย่างประเทศสวีเดน ที่เมื่อถึงหน้าหนาวจะมีรถมาทำความสะอาดถนนหนทางเคลียร์หิมะ เพื่อให้รถยนต์สามารถสัญจรไปมาได้ แต่กลับไม่ได้คำนึงถึงทางเดินเท้าที่ผู้หญิงมักจะใช้กัน สถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้หญิงขณะเดินทางก็สูงกว่าผู้ชาย
ประเทศออสเตรียเป็นอีกประเทศเล็กๆที่น่าสนใจมาก เพราะเขาให้ความสำคัญกับผู้หญิงเต็มที่ เขาออกแบบแปลนการสร้างเมืองโดยให้ห้องครัวอยู่ด้านล่าง เพราะผู้หญิงอย่างเรามักจะใช้เวลาอยู่ในครัว และหากมองจากห้องครัวออกไปคุณก็จะได้เห็นลูกๆอยู่ในสายตาขณะทำงานบ้านไปในเวลาเดียวกัน ขณะเดียวกันการออกแบบที่ไม่ได้คิดเผื่อประชากรที่เป็นผู้หญิงกลับก่อให้เกิดการเสียเงินโดยใช่เหตุ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเคสการสร้างเมืองใหม่ในประเทศบราซิลว่าเพราะเหตุใดมันถึงไม่ประสบความสำเร็จ
ว่าด้วยเรื่องห้องน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาคู่ผู้หญิงตลอดกาล หัวข้อนี้ทำให้ประเทศอินเดียและประเทศแถบนั้นเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยวิถีผู้คนที่ชายเป็นใหญ่และมีผู้อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ห้องน้ำของผู้มีรายได้น้อยไม่ได้มีอยู่ในครัวเรือนเหมือนอย่างเรา ผู้หญิงเหล่านั้นต้องเดินเพื่อไปเข้าห้องน้ำซึ่งไม่ใช่ระยะทางใกล้ๆ สุ่มเสี่ยงให้พวกเธอโดนคุกคามทางเพศอย่างเลี่ยงไม่ได้
หากมีใครคิดจะแก้ปัญหาตรงนี้ ก็ติดที่ผู้มีอำนาจมักจะบอกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก มันผิดที่ผู้หญิงเองต่างหากที่มีวงจรชีวิตที่ยุ่งยากเกินไป
Part ll : The Workplace
เรื่องราวเกี่ยวกับที่ทำงานที่ไม่ค่อยโอนอ่อนเพื่อผู้หญิงเสียเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับแวดวงการศึกษา สิ่งที่เกิดกับอาจารย์ที่เป็นผู้หญิง ผลจาก RateMyProfessor.com พบว่า อาจารย์ที่เป็นผู้หญิงมักจะได้คำวิพากษ์วิจารณ์จากลูกศิษย์ในเชิงลบเสียมากกว่า ทั้งใจร้าย, เกรี้ยวกราด, ไม่ยุติธรรม, เข้มงวด และน่ารำคาญ ส่วนอาจารย์ผู้ชายน่ะหรอ? พวกเขากลับได้รับคำชมเชยอยู่เสมอ ทั้งอาจารย์มีประสิทธิภาพ, ตรวจคะแนนคืนกลับเร็ว ทั้งๆสิ่งที่พวกเขาทำนั้นก็ไม่ได้ต่างจากที่อาจารย์ผู้หญิงปฏิบัติกับนักศึกษา แต่กลับได้รับคำชมมากว่าเสียอย่างนั้น อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยบางท่านยังได้รับการประเมินจากนักเรียนในเชิงดูถูกทางเพศอีกด้วย
I like how your nipples show through your bra
Invisible Women
เท่านั้นยังไม่พอ โอกาสด้านความก้าวหน้าของอาจารย์ผู้หญิงหลายท่านก็ต่ำกว่าอาจารย์ผู้ชาย พวกเธอมีภาระอื่นๆนอกเหนือจากงานสอน เช่นงานเสมียน การให้คำปรึกษากับนักเรียน หรือพวกเดินงานเอกสาร
สิ่งที่เกิดในสังคมการทำงานก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดในวงการการศึกษาเลย เพราะมันเป็นโลกของ ‘ผู้ชาย’ อย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในที่ทำงาน ทำงานกันจนดึกดื่นแล้วก็ต้องออกไปดื่มกับเจ้านายเพื่อความสนิทสนม แล้วผู้หญิงล่ะ? ถึงแม้คุณจะโสด แต่การออกไปดื่มและกลับบ้านดึกดื่นแบบนั้นไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยให้กับผู้หญิงความสะดวกหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเลยแม้แต่น้อย กลับกัน การกลับบ้านในยามวิกาลทำให้ผู้หญิงขาดความรู้สึกที่ปลอดภัย ส่วนผู้หญิงที่มีครอบครัวก็แทบจะหาโอกาสที่จะได้เจริญเติบโตในที่ทำงานไม่ได้เลย
จากผลการสำรวจในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1960 เมื่อบอกให้นักเรียนวาดรูป ‘นักวิทยาศาสตร์’ มีนักเรียนเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่วาดรูปนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้หญิง แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 28% เหตุผลที่นักเรียนมองว่านักวิทยาศาสตร์มักจะเป็นผู้ชายเพราะเกิดจากระบบการศึกษาในโรงเรียน สอดคล้องกับหนังสือเรียนที่มีแต่รูปบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ชายเกือบทั้งหมด ผู้เขียนมองว่านี่คือสาเหตุที่นักเรียนถูกสร้างกรอบและความอคติในเรื่องเพศ เรื่องนักวิทยาศาสตร์นี้ตามความเป็นจริงแล้ว 86% ของนักศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศอังกฤษเป็นผู้หญิงที่เรียนด้านโพลิเมอร์, 57% เป็นนักศึกษาหญิงที่ศึกษาเกี่ยวกับด้านยีนส์ และ 56% เป็นนักศึกษาหญิงที่เรียนด้าน microbiology ผู้หญิงเรียนสาขาวิทยาศาสตร์มากกว่าผู้ชายเกินครึ่งเสียด้วยซ้ำ
ใน Part นี้ยังมีเรื่องให้เราถกเถียงถึงประเด็นด้านกฎหมายแรงงาน การลาคลอด ฯลฯ ของแต่ละประเทศให้คนไทยอิจฉาเล่นๆ และตกใจไปกับข้อมูลที่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีกลุ่มชนที่ตกสำรวจ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญดั่งที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้ตามขั้นพื้นฐาน ผู้เขียนได้แสดงให้เราเห็นถึงว่าถึงจะมีกฎหมายแรงงาน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังจำกัดสิทธิ์และความสะดวกของผู้หญิงหลายๆอย่าง
เสื้อผ้า อุปกรณ์ต่างๆในที่ทำงานก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ สิ่งที่เราผู้หญิงได้รับก็เป็นเพียงแค่เสื้อผ้า อุปกรณ์ของผู้ชายย่อส่วนให้ขนาดมันเล็กลง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือรองเท้า Safety ที่เราเชื่อว่าผู้หญิงหลายคนที่ทำงานในโรงงานต้องเคยเจอประสบการณ์เดินมากๆแล้วปวดเท้า หนักเท้า โดยเฉพาะตรงหัวแม่โป้งนี้ตัวดี เพราะอะไร? ก็เพราะมันก็แค่เป็นรองเท้าของผู้ชายที่ไซส์เล็กลงแค่นั้น ไม่ได้คำนึงถึงสรีระของผู้หญิงเลยแม้แต่น้อย
การออกแบบถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ตำรวจหญิงนายหนึ่งต้องเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่โดยการถูกแทง ขณะที่เธอพยายามจะถอดชุดป้องกันของเธอออกในขณะปฏิบัติหน้าที่
The use of a ‘standard’ US male face shape for dust, hazard and eyes masks means they don’t fit for women (as well as a lot of black and minority ethic men)
Part lll : Design
สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของเราใช่ว่าจะทำมาเพื่อผู้หญิง Caroline ได้ยกตัวอย่างการออกแบบรถยนต์ หนึ่งในฟังก์ชันที่เป็นที่นิยมคือ การสั่งด้วยเสียง แต่เรื่องของเรื่องคือเวลาผู้หญิงออกเสียง มันมักจะไม่ได้ผล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเจอด้วยตัวเอง เลยลองให้แม่ของเธอออกเสียงทุ้มขึ้น ผลประกาศว่าเจ้ารถวอลโว่ถึงจะเข้าใจว่าเธอต้องการให้มันทำอะไร
แต่ปัญหาเรื่องการใช้คำสั่งด้วยเสียงไม่ได้เกิดเฉพาะรถยนต์เท่านั้น กับมือถือที่เราใช้อยู่ทุกวันก็ประสบปัญหาเฉกเช่นเดียวกัน ข้อมูลที่ Caroline ได้นำมาอธิบายให้เราทราบกันถึงวิธีการเก็บข้อมูลเสียง ว่าข้อมูลในการเก็บสำรวจเสียงต่างๆมักจะเป็นเสียงของผู้ชาย อุปกรณ์พวกนี้จึงตอบสนองต่อเราน้อยกว่าผู้ชายนั่นเอง Carolineยังยกตัวอย่างให้เราเห็นถึงการออกแบบของโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้มีขนาดเหมาะสมกับมือของผู้หญิงเราเสียเลย เธอได้ลากประเด็นเรื่องความกว้างของมือที่ควรหยิบจับของขนาดที่เหมาะสม มิเช่นนั้นแล้ว ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นที่มือจะมาเยือนผู้หญิงเราในไม่ช้า สำหรับกรณีนี้ iPhone โดนไปเต็มๆ รวมไปถึงขนาดที่ใหญ่เทอะทะที่ผู้หญิงเราไม่สามารถยัดใส่ลงไปในกระเป๋ากางเกงเหมือนพวกผู้ชายได้ สุดท้ายเราก็ต้องเอาไปใส่ในกระเป๋าถือ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรล่ะ ในเมื่อโทรศัพท์ GPS tracking มันควรจะอยู่ติดตัวกับเราตลอดเวลาไม่ใช่หรือ?
การออกแบบที่ไม่ได้นึกถึงผู้หญิงสามารถนำความสูญเสียมาสู่เราๆได้ หากเราย้อนกลับมาดูการออกแบบรถยนต์ที่จะต้องผ่านการทดสอบต่างๆนาๆก่อนนำมาขายในตลาดด้วยราคาแพงลิบลิ่ว กลับมองข้ามเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงไปเสียอย่างนั้น หนึ่งในการทดสอบที่เป็นมาตรฐานสากลในวงการรถยนต์คือ การทดสอบการชน ที่บริษัทรถยนต์นำมาโฆษณาล่อตาล่อใจผู้ซื้อว่ารถรุ่นนี้จะปลอดภัยสำหรับตัวคุณและคนที่คุณรักเท่าใด แต่คุณรู้ไหมว่าหุ่นจำลองแทนผู้โดยสารที่นั่งอยู่ในรถไม่ได้จำลองการย่อส่วนที่ถูกต้อง หุ่นจำลองที่เป็นตัวแทนผู้โดยสารหญิง อันที่จริงแล้วมันคือหุ่นไซส์ผู้ชายย่อส่วนต่างหาก ทั้งๆที่กายภาพของผู้หญิงเราไม่เหมือนกับผู้ชายสักนิด และหากเทียบสถิติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้หญิงมักจะได้รับบาดเจ็บมากกว่าผู้ชายอยู่มาก นอกจากนี้ ตำแหน่งของเข็มขัดนิรภัย เบาะนั่ง อะไรต่างๆก็ไม่ได้คำนึงถึงกายภาพของผู้หญิงเลย
ผู้เขียนไม่ได้แค่พูดถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์แต่เพียงเท่านั้น เธอยังกล่าวถึงโลกของธุรกิจที่เป็น ‘ทะเลที่เต็มไปด้วยผู้ชาย’ ที่มักจะเข้าข้างกันเอง กีดกันเพศหญิงออกจากโลกธุรกิจที่พวกเขาเชื่อว่าสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง หลายต่อหลายครั้งที่นักธุรกิจหญิงต่างต้องหอบกระเป๋าเก็บเสื้อผ้ากลับบ้านย้อมใจตัวเอง เนื่องจากนักลงทุนไม่สนใจธุรกิจเพื่อผู้หญิงของพวกเธอ ทั้งๆพวกเขาที่ไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำว่าธุรกิจเหล่านี้จะช่วยผู้หญิงในสังคมได้มากแค่ไหน และจะได้กำไรเท่าไหร่
What’s the different between cooking a meal in the home and producing software in the home? The former has largely been done by women, and the latter is largely done by men.
Invisible Women
Part lV : Going to the Doctor
อย่านึกว่าวงการการแพทย์จะมีข้อมูลทุกสิ่งอย่างสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ตรงกันข้าม! การทดลองหรือการวิจัยมักจะใช้ฐานข้อมูลของผู้ชาย(ผิวขาว)เป็นหลัก หลายครั้งที่ผู้หญิงหลายรายต้องผ่านการวินิจฉัยแบบผิดๆถูกๆเพราะแพทย์ที่รักษาใช้ข้อมูลบ่งบอกอาการป่วยที่เกิดกับผู้ชาย แต่กับผู้หญิงแล้ว อาการเหล่านั้นกลับแสดงออกอีกอย่าง อย่างอาการหัวใจวาย ที่คนทั่วไปจะนึกถึงผู้ชายเอามือจับหน้าอก ซึ่งอาการแบบนี้ Caroline ล้อว่าเป็นการแสดงแบบ Hollywood ซึ่งหากเป็นอาการที่เกิดในผู้หญิง จะไม่ได้มีอาการที่เห็นได้ชัดขนาดนั้น อาจจะเป็นเพียงแค่อาการแน่นหน้าอก แต่คุณหมอทั้งหลายไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้เลยด้วยซ้ำว่ามันเป็นหนึ่งอาการของหัวใจวาย นั่นก็เพราะแม้แต่กับวงการแพทย์เอง ข้อมูลอาการของโรคที่เกิดในผู้หญิงไม่ได้ถูกสำรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ผู้หญิงไม่ได้ต่างจากผู้ชายเพียงแค่ลักษณะภายนอกเท่านั้น แต่พวกเราต่างกันถึงระดับเซลส์เลยทีเดียว
[…]male and females bodies differ down to a cellular level. So why aren’t we teaching this?
Invisible Women
การวิจัยและการทดลองยาก็ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดในผู้หญิง ข้อมูลส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์จำพวกยาเกิดขึ้นจากการเก็บผลการทดลองในผู้ชายเสียส่วนมาก ทั้งๆที่ความเป็นจริงการรับปริมาณยาและการแสดงผลของยาแต่ละตัวในผู้หญิงกับผู้ชายนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
Part V : Public life
เมื่อพูดถึงเรื่องสาธารณะ ข้อมูลของประชากรทุกคนมีส่วนสำคัญ แต่ทำไม่เล่า การนับ GDP ถึงนับแต่สิ่งที่เห็นเป็นตัวเงินไปเสียได้ ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่นักวิชาการหลายคนชี้ชัดว่า การนับ GDP ควรจะนับ ‘งานที่ไม่ได้เงิน’ ด้วย นั่นคือพวกงานบ้าน งานดูแลเด็กเล็ก หรือดูแลผู้ป่วยที่เป็นญาติผู้ใหญ่ แน่นอนว่างานเหล่านี้เป็นงานของผู้หญิงที่เป็นประชากรครึ่งหนึ่งของโลกใบนี้ แต่ข้อมูลพวกนี้กลับถูกละเลย ทั้งๆที่เม็ดเงินที่หมุนอยู่ในงานเหล่านี้มีมูลค่ามากกว่าอุตสาหกรรมหลายส่วนรวมกันเสียอีก
What’s the different between cooking a meal in the home and producing software in the home? The former has largely been done by women, and the latter is largely done by men.
Invisible Women
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากรัฐบาลเป็นหลัก ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงปัญหาถึงการกีดกันที่ผู้หญิงจะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมนักการเมือง กว่าจะข้าไปได้และยืนหยัดได้นั้นพวกเธอไม่เพียงต้องฝ่าฝันจากฝูงชนภายนอกเพื่อแหวกเข้าไปในดงหมู่นักการเมืองที่เต็มไปด้วยผู้ชาย เมื่อพวกเธอได้ก้าวเข้าไปสู่จุดนั้นแล้ว พวกเธอยังต้องโดนกดดันจากเพื่อนร่วมงานการกลายๆ ตั้งแต่การถูกแย่งพูดในระหว่างการอภิปราย การเป็นเหยื่อการพูดเสียดสีทางเพศ หรือแม้แต่ขาดแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมพรรคด้วยกันเอง ทำให้นักการเมืองหญิงหลายคนจำต้องถอยออกมาจากวงการนี้ในสภาพจำยอมเพื่อความปลอดภัยของตัวเธอและครอบครัว
ฮิลาลี คลินตัน เป็นนักการเมืองหญิงที่เบื้องหน้าเธอคือหญิงแกร่ง แต่กว่าเธอจะได้เข้ามายืนที่จุดนี้ มันไม่ง่ายเลย ไหนจะแรงต้านจากประชาชนสหรัฐฯว่าเธอดูหยิ่งจองหอง ซึ่งเป็นผลสำรวจคุณลักษณะที่หลายคนมักมีความเห็นต่อนักการเมืองหญิง และจะต้องปะทะคารมกับพรรคตรงข้ามที่ทรัมป์มักจะพูดแทรกเธอระหว่างการดีเบตนับไม่ถ้วน!
Part V : When It Goes Wrong
ไม่ว่ากี่ครั้งของสงครามขนาดเล็กใหญ่ ผู้หญิงคือเหยื่ออันโอชะในสถานการณ์แบบนี้ สงครามในหลายประเทศที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างมาให้เห็นภาพความทรมานของกลุ่มผู้หญิงที่ตกเป็นเครื่องมือทางเพศอย่างเลี่ยงไม่ได้ คนภายนอกก็ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือเพราะกลัวผลกระทบจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ในขณะที่ผู้หญิงเหล่านั้นเรียกร้องหาอิสรภาพอยู่ทุกลมหายใจ
ภัยพิบัติคือหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตผู้หญิงนับร้อยนับพันที่ต้องตกอยู่ภายในความลำบากหลังเกิดภัยพิบัติ เพราะหลังจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเหล่านี้ได้สิ้นสุดลง ที่ๆพวกเธอรู้สึกปลอดภัยก็หายไปกับตา ผู้คนนับพันจะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่จัดไว้ให้คนอยู่ร่วมกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงภัยคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นภายใต้ที่หลบภัยชั่วคราว
จากบทสัมภาษณ์ของผู้หญิงที่ประสบเหตุ เธอบอกว่าที่หลบภัยนี้ถึงจะอยู่รวมกันหลายคนก็จริง แต่การอยู่รวมกันหลายคนโดยไม่แยกชายหญิงกลับส่งผลให้คนบางกลุ่มฉกฉวยโอกาส
They happened. They happened. People were getting raped. You could hear people, women, screaming. Because there’s no lights, so it’s dark, you know,’ She added.
Invisible Women
Caroline ยายามชี้ให้เราเห็นว่า การที่ปัญหาพวกนี้เกิดขึ้น เพราะข้อมูลที่เราเก็บกันมาหลายสิบปี ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ตกสำรวจ ทำให้พวกเราต้องมาเจอปัญหาที่สามารถส่งผลได้ถึงชีวิตอย่างในปัจจุบันนี้ เธอเรียกร้องให้สังคม หน่วยงานที่มีอำนาจทั้งหลาย หันมาให้ความใส่ใจ หากเราสามารถปิดช่องว่างของข้อมูลที่หายไปในส่วนนี้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงผู้หญิงที่จะได้ประโยชน์ แต่ประชากรบนโลกทุกคนจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และพัฒนาสังคมให้ก้าวไปอีกระดับ
หลังจากเราอ่านเล่มนี้จบเราพบว่า ประเทศที่เห็นคุณค่าของผู้หญิงมักจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นประเทศออสเตรีย สวีเดน ความคิดของเขามันมาจากพื้นฐานที่ผ่านการคิดวิเคราะห์แล้วว่าสิ่งที่เขาทำนั้นจะเกิดประโยชน์กับคนทุกคนไม่ว่าเพศใด สุดท้ายแล้วผลพวงที่ทำไว้มันก็ตีกลับมาเป็นความเจริญให้กับประเทศของพวกเขาเอง อย่างการสร้างผังเมืองนี้เขาคิดไปไกลถึง การออกแบบบ้านต้องสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้หญิง มันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ว่าหากผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่บ้าน สามารถดูแลลูกๆและผู้ป่วยที่เป็นญาติได้ในเวลาเดียวกัน ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยขั้นต้น พวกเธอก็จะสามารถบริหารจัดการเวลาในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น สามารถเดินทางโดยใช้ระบบสาธารณะได้อย่างสะดวก แน่นอนว่าเงินก็จะสะพัดไปตามระบบต่างๆของประเทศนั้นๆ
สิทธิเสรีภาพของสตรีในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย ศรีลังกา และบังคลาเทศ ค่อนข้างต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ บางครั้งบางคราบทบาทของผู้หญิงในแถบเอเชียน้อยกว่าแถบแอฟริกาเสียด้วยซ้ำ สำหรับประเทศไทยของเรายังไม่ต้องไปพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้หญิงให้มากนัก เอาเรื่องง่ายๆแค่สิทธิพื้นฐานของประชาชนให้ได้เสียก่อน…
ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คือ
1) มันทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ ได้ทราบว่าโลกที่เค้าเจริญแล้วเค้ามีวิธีแบบแผนการคิดอีกอย่าง เขามองอีกมุมที่ไม่เหมือนเรา ในแบบที่ประเทศของเราไม่เคยสนใจ ผู้เขียนไม่ได้สร้างข้อมูลมาอย่างลอยๆ แต่มีเนื้อหาอ้างอิงที่อัดแน่นไว้ด้านหลังหนังสือ หากใครอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม ก็ลองค้นหาดูได้
2) อยากจะบอกว่าเล่มนี้เหมาะมากหากใครอยากจะซื้อมาอ่านเพื่อพัฒนางานเขียนและไปสอบ IELTS ในหนังสือมีการอธิบายข้อมูล ยกลำดับตัวอย่าง ซึ่งเราว่ามันคล้ายกับพาร์ทการเขียน Part 1 ใน IELTS ที่มักจะเป็นกราฟข้อมูลต่างๆ สำนวนในการเขียนบอกเล่าข้อมูลให้กระชับและมีการเขียนอธิบายข้อมูลหลากรูปแบบสามารถหาได้ในหนังสือเล่มนี้
ข้อสังเกต
1) หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี เพราะฉะนั้นเนื้อหาบางตอนจะมีความอคติหรือใช้อารมณ์ส่วนตัวของผู้เขียนไปบ้าง ถึงแม้ว่าจะนำเอาแหล่งอ้างอิงมาไว้ท้ายเล่มก็จริง แต่เรารู้สึกว่าบางที Caroline เองก็เอาเนื้อหาบางเรื่องมาปะติดปะต่อกันเพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่า ‘นี่ไงล่ะ! นี่คือผลเสียที่พวกคุณไม่ได้นึกถึงผู้หญิงอย่างเรา’
2) เนื้อหาบางส่วนก็จะซ้ำๆกัน หลังจากที่เกริ่นเรื่องๆหนึ่ง พออ่านไปไม่กี่บทก็จะวกมาตรงประเด็นเดิมที่เขียนไว้ก่อนหน้าว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบแค่ไหน ผลวิจัยออกมาอย่างไร ผู้หญิงควรต้องถูกเชิดชูมากแค่ไหน
หากคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ลองพลิกกลับมาดูหน้าปกหนังสือ คุณจะเข้าใจทันทีเลยว่าทำไมหน้าปกถึงออกแบบมาแบบนี้ สีเขียวคือรูปร่างแทนผู้ชายที่ผู้เขียนกล่าวว่าเป็น Default mean โลกที่ถูกตั้งค่าไว้ด้วยข้อมูลพื้นฐานจากผู้ชาย ลองมองดูให้ดีว่าหุ่นสีเขียวเหล่านี้มีผมสั้นสีแดงและรูปทรงที่เหมือนใส่ชุดเดรสอยู่ด้านหลัง ซึ่งแสดงตัวแทนของผู้หญิง เราว่าคนออกแบบปกฉลาดมากเลย มันสื่อถึงเนื้อหาทั้งหมดที่ผู้เขียนเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ ว่าของทุกอย่างบนโลกนี้ต่างออกแบบมาในฐานะที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงก็เป็นเพียงประชากรที่อยู่เบื้องหลังเท่านั้น
โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่งที่ทำให้เราทราบถึงการบริหารประเทศในมุมโลกอื่น ให้เราตระหนักว่าบนโลกนี้ยังมีความไม่เท่าเทียมซ่อนอยู่ในประเทศเหล่ามหาอำนาจของโลก ความไม่เท่าเทียมที่ไม่จำเป็นต้องซ่อนเร้น แต่กลับเห็นได้อย่างชัดเจนผุดขึ้นเป็นวงกว้างในดินแดนอื่นๆ แล้วเมื่อหันกลับมามองประเทศของเรา เราอยากจะแก้ไขอะไรบ้าง?