เอาจริงๆคือเราชอบ Describe image มากที่สุดเลยค่ะ มันเหมือนกับการลุ้นเสี่ยงโชคเวลาจับฉลาก ไม่รู้ว่าเราจะจับได้ปากกา สมุดโน้ต มาม่า(อีกแล้วหรอ) หรือพัดลม มันเป็น Task ที่มีค่อนข้างความหลากหลาย และอาจด้วยเพราะเราเป็นคนชอบจับโยงสิ่งรอบข้างเพื่อให้เกิดความเข้าใจ การดูรูปและอธิบายออกมาเป็นคำพูดจึงเป็นเรื่องที่เราชอบเป็นพิเศษ อีกทั้งโจทย์ไม่ได้มีการกำหนดกรอบตายตัวว่าต้องพูดแบบนี้แบบนั้น โดยทาง Pearson ให้ผู้เข้าสอบ PTE ตีความตามใจชอบได้เลย(แน่นอนว่าอยู่บนพื้นฐานประเด็นสำคัญที่โจทย์กำหนดมาให้) เราไม่เคยกลัวว่าตัวเองจะบรรยายออกทะเลมหาสมุทรเลยนะ เพราะเวลาอธิบายอะไรสักอย่าง คนเรามักจะเลือกจับหัวข้อสำคัญๆมาบอกเล่ากันอยู่แล้ว เหมือนเวลาเราไปดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วต้องมาเล่าให้เพื่อนฟังว่ามีอะไรเด็ดๆอยู่ในหนังบ้าง
Describe image ในข้อสอบ PTE ค่อนข้างจะเหมือน Writing ใน IELTS อยู่มาก คือจะมีรูปให้คุณอธิบายว่าสิ่งที่เราเห็นจากรูปมีจุดเด่นอะไรตรงไหนบ้าง แล้วคุณจะสรุปออกมาอย่างไรให้อีกฝั่งเข้าใจ ส่วนที่ต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง PTE และ IELTS คือข้อสอบ PTE เป็น ‘การพูด’ ส่วน IELTS เป็น ‘การเขียน’ เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจประเด็นหลักที่เรากำลังกล่าวถึง นี่คงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราให้ชอบ Describe image ใน PTE มากกว่า IELTS เพราะว่าทักษะการเขียนบรรยายภาษาอังกฤษของเราไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่เมื่อเทียบกับทักษะอื่น เอาเป็นว่าคนที่เรารู้จักทั้งที่เป็น Native English Speakers และคนไทยที่เก่งภาษาอังกฤษหลายคนพอเห็นงานเขียนของเราหลายๆครั้งเข้า พวกเขามักจะบอกว่าภาษาอังกฤษเราอยู่ในระดับที่ดีนะ แต่ต้องฝึกเรื่องการเขียนให้มากขึ้น คือถ้างานเขียนเราพัฒนา จะทำให้ทักษะภาษาอังกฤษเราโดยรวมดีขึ้นกว่านี้ได้อีก ซึ่งเรามานั่งพิจารณาสิ่งที่เขาพูดก็หมายความว่า เราอ่อนทักษะการเขียนนะ .ฮา.
Describe Image คืออะไร?
ข้อดีของข้อสอบ PTE ดีอย่างตรงที่ชื่อมันตรงตัวมาก เห็นชื่อ Task แล้วรู้เลยว่าข้อสอบจะเป็นแบบไหน ซึ่งใน Describe image จะมีโจทย์เป็นรูปภาพมาให้ โดยรูปภาพที่ให้มานั้นอาจจะเป็นรูปของแผนที่ กราฟทั้งหลาย ชาร์ต รูปภาพสิ่งต่าง หรือแม้แต่ตาราง โดยโจทย์จะให้ข้อมูลบางส่วนมาในรูปอยู่แล้วเพื่อให้เราใช้ข้อมูลตรงนี้มาอธิบายว่าสิ่งที่โจทย์ให้มานั้นมีประเด็นสำคัญอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง
Describe image เป็นการตอบแบบ long-answer หมายถึง คุณจะต้องพูดบรรยายว่าสิ่งที่ให้มานั้นคืออะไร มีอะไรเป็นจุดสูงสุด ต่ำสุด ฯลฯ ในระยะเวลาทั้งหมด 40 นาทีรวดเดียวเลย น่าตื่นเต้นไหมล่ะคะ? แต่ทาง Pearson ก็ยังใจดีเช่นเดิม เพราะก่อนที่ผู้เข้าสอบจะอธิบาย เขาให้เวลาเราเตรียมตัว 25 วินาทีก่อนพูดค่ะ
จำนวนข้อใน Describe image จะมีอยู่ประมาณ 6-7 ข้อ* โดยจะเป็นการวัดทักษะ Speaking ของเราอย่างเดียวเลยค่ะ
หมายเหตุ : หลังจากวันที่ 16 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป จะลดเหลือ 3-4 ข้อ
แต่ละส่วนที่ปรากฏบนหน้าจอคืออะไร?
1) Instructions
คือคำแนะนำว่าเราจะต้องทำอย่างไรกับข้อสอบที่เราเห็นบนหน้าจอในขณะนี้ โดยข้อสอบ PTE ได้บอกไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้เข้าสอบได้เข้าใจอย่างง่ายที่สุดว่าต้องทำอย่างไร
Look at the map below. In 25 seconds, please speak into the microphone and describe in detail what the map is showing. You will have 40 seconds to give your response.
ดูแผนที่ด้านล่าง. ภายในช่วงเวลา 25 วินาที ให้คุณพูดใส่ไมโครโฟน โดยอธิบายรายละเอียดของแผนที่ที่ปรากฏ. คุณเวลา 40 วินาทีในการตอบ
2) Image รูปภาพที่ผู้เข้าสอบจะต้องอธิบาย
ใน Describe image ทุกๆข้อ จะมีรูปมาให้ผู้เข้าสอบ PTE บรรยายสิ่งที่เราเห็น รูปที่โจทย์ให้มาจะอยู่ทางซ้ายมือ ตามที่ myPTEjourney ได้กล่าวไว้ข้างต้น คำว่า ‘รูป’ ที่ให้มานั้นอาจจะเป็นรูปภาพแผนที่ รูปภาพกราฟแท่ง กราฟพาย หรือเป็นรูปภาพตารางข้อมูลก็เป็นได้
3) Recording Status Box กล่องแสดงสถานะ Recording และเวลาให้เรารู้ว่าเริ่มพูดได้และใกล้หมดเวลาเมื่อใด
หากเราต้องทำข้อสอบ PTE ในพาร์ท Speaking แล้วล่ะก็ เราจะเจอกล่อง Recording status box เสมอค่ะ มีไว้เพื่อแสดงสถานะว่าไมโครโฟนเปิดและปิดเมื่อใด และจะมีการบอกช่วงเวลาเราเป็นวินาทีให้เราเตรียมตัวก่อนที่เราจะพูด อีกทั้งยังมีการแสดงของแถบสีฟ้าให้เราทราบว่าเหลือเวลาประมาณเท่าไหร่ก่อนที่ไมโครโฟนจะปิด ซึ่งมันสำคัญมากเลยนะคะ เจ้ากล่องนี้จะมาทักทายเราเสมอเมื่อมีการพูดเข้ามาเกี่ยวข้อง โดย Recording status box ใน Repeat sentence จะมีการแสดงดังสถานะในช่วงต่างๆดังนี้
3.1) รูปด้านบนเป็นช่วงเวลาไมโครโฟนยังปิดอยู่ ตรงนี้คุณจะมีเวลา 25 วินาที ผู้เข้าสอบ PTE สามารถใช้เวลาตรงนี้เตรียมตัวเพื่อดูว่าสิ่งที่ให้มานั้นเกี่ยวเป็นเรื่องของอะไร สแกนหาข้อมูลจุดสำคัญในรูปภาพและรายละเอียดที่เด่นๆ เพื่อนำมาร้อยเรียงเล่าให้เป็นเรื่องราวในขั้นต่อไป หรือคุณจะใช้เวลาตรงนี้ลองพูดออกเสียงดูเพื่อให้คุ้นกับสิ่งที่ตัวเองกำลังจะพูดด้วยก็ได้ค่ะ
3.2) เมื่อเวลาในข้อ 3.1 ไล่ลงมาเรื่อยๆลงมาจนถึงวินาทีที่ 1 จนถึง 0 สถานะของ Recording status box จะเปลี่ยนเป็น Recording ทันที และมีเสียงปี๊ป! พร้อมด้วยแถบสีฟ้าปรากฏขึ้น ซึ่งหมายความว่าไมโครโฟนเปิดแล้ว ให้ผู้เข้าสอบพูดคำตอบใส่ไมโครโฟนได้เลย ระยะเวลาที่แถบสีฟ้าขึ้นมาและดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะมีระยะเวลาทั้งหมด 40 วินาที ผู้เข้าสอบจะต้องพูดอธิบายรูปภาพให้ได้ในครั้งเดียวในระยะเวลา 40 วินาทีนี้
ในข้อควรระวังของ Task จะเหมือนกับ Read aloud ต่างกันตรงที่ใน Describe image ผู้เข้าสอบจะต้องอธิบายคำตอบในรูปแบบของตัวเอง แต่ Read aloud ผู้เข้าสอบอ่านข้อความที่โจทย์ให้มา
- เมื่อไหร่ที่สถานะบน Recording Status Box เปลี่ยนเป็น ‘Recording’ เราจะได้ยินเสียง ปี๊ป! จะมีแถบสีน้ำเงินเริ่มวิ่งพร้อมๆกันไปด้วย เราจะต้องเริ่มพูดหลังจากได้ยินเสียงปี๊ป! โดยทันที แต่ระวังอย่าพูดก่อนที่ Recording Status Box เปลี่ยนเป็น ‘Recording’ เด็ดขาด! เพราะไม่อย่างนั้นระบบจะไม่บันทึกเสียงของคุณนะคะ
- เรามีโอกาสในการพูดคำตอบได้เพียง 1 ครั้งในระยะเวลา 40 วินาทีเท่านั้น!
ก่อนเริ่มอ่านออกเสียง
ก่อนที่ไมโครโฟนเปิด คุณจะมีเวลา 25 วินาทีในการเตรียมตัวเพื่อจัดแจงคำตอบให้เข้าที่เข้าทาง myPTEjpurneyอยากให้ผู้เข้าสอบ PTE ทุกท่านใช้ระยะเวลาตรงนี้ให้คุ้มค่าที่สุดค่ะ
★ กวาดสายตาว่ารูปภาพที่ข้อสอบให้มาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
★ พยายามหาจุดเด่น ดึงลักษณะเด่นๆในรูปที่โจทย์ให้มา เช่น จุดสูงสุด-ต่ำสุด ลักษณะของกราฟพุ่งขึ้นหรือปักลง มีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ เกิดขึ้นช่วงไหน ปีไหน ที่ไหน เป็นต้น
★ หาข้อสรุปว่าเราจะพูดสรุปลงท้ายไร เช่น ท้ายที่สุดแล้วนักเรียนชายมีมากกว่านักเรียนหญิงในช่วงเวลา 10 ที่ผ่านมา
★ ผู้เข้าสอบ PTE บางท่านสามารถเขียนข้อสรุปเด่นๆของโจทย์ลงในสมุดทดกระดาษคำตอบที่ทางเจ้าหน้าที่ให้มาได้นะคะ
★ สำหรับเรา เราชอบลองฝึกพูดคำตอบก่อนไมโครโฟนเปิดเพื่อที่เราเองจะได้คุ้นกับสิ่งที่เราจะตอบ และจะได้ไม่อธิบายเนื้อหาแบบวกไปวนมา
ช่วงเวลา 25 วินาทีนี้คือนาทีทองที่จะเตรียมคำตอบใน Describe image
myptejourney
ช่วงเวลาที่ต้องอ่านออกเสียงของจริง
★ ตั้งสติ ผ่อนคลาย
★ เริ่มอ่านเมื่อได้ยินเสียงปี๊ป! สถานะของ Recording status box จะเปลี่ยนเป็น Recording และแถบสีน้ำเงินเริ่มวิ่ง อย่าพูดก่อนสัญญาณเหล่านี้เด็ดขาด!
★ อธิบายรูปภาพตามที่เราได้เตรียมตัวไว้ในช่วง 25 วินาทีก่อนหน้า โดยพูดถึงประเด็นหลัก ไม่ต้องพยายามลงลึกในส่วนของรายละเอียดมากเกินไป หากเวลาเหลือค่อยแต่งเติมรายละเอียด
จากหนังสือ PTE Academic. Pearson Test of English Academic from the Test Developers แนะนำทริคให้ผู้เข้าสอบ PTE ที่อยากได้คะแนนดีว่า ผู้เข้าสอบจะได้คะแนนดีหากคำตอบในช่วง 40 วินาทีมีประเด็นหลัก (main points), สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง/พัฒนาในโจทย์ (developments or implications), หรือข้อสรุปได้ (conclusions)
หลังจากอ่านออกเสียง
★ ให้คลิก Next ทันทีเมื่อพูดจบเพื่อป้องกันเสียงอื่นแทรกเข้าไปในไมค์
สิ่งต้องห้ามใน Read aloud หากอยากได้คะแนนดี!
👎 หากพูดอะไรผิด อย่าตกใจ โวยวาย หรือเงียบไป อย่าพยายามทำนะคะ พยายามตั้งสติ ดึงสติไว้กับตัวเองอยู่เสมอว่า ‘เราต้องไปต่อ’ เพราะฉะนั้นพยายามพูดไปเรื่อยๆค่ะ พยายามฝึกพูดกับรูปแบบกราฟหลายๆแบบ สักพักเราจะจับได้เองว่าถ้าเจอโจทย์แบบนี้ต้องบรรยายอย่างไร
👎 เมื่อรู้ตัวว่าพูดผิด แล้วจะขอเริ่มใหม่ เรื่องนี้ไม่ควรทำค่ะ หากคุณพูดผิดจริงๆแล้วอยากแก้ ไม่เป็นไรค่ะ ไม่ต้องกังวล สามารถแก้ได้ ตัวอย่างเช่น มีกราฟที่หัวปักลง แต่คุณพูดว่า It increases ซึ่งมันผิด คุณก็แค่แก้ว่า It decreases เท่านี้เองค่ะ … แต่ถ้าถาม myPTEjourney เราจะไม่แก้สิ่งที่เราพูดผิดไปนะ ตั้งแต่สอบมาทั้งหมด 4 ครั้งถ้ามันผิดแล้ว เราก็จะเลยตามเลยค่ะ เพราะเรารู้ตัวเองดีว่าถ้ากลับไปแก้แล้วเราจะลนกว่าเดิม ฮา.
👎 เอิ่ม…อ่า…เอ๋…อืม… คำพวกนี้ไม่ควรพูดลงไปค่ะ หากเกิดอาการช๊อตขึ้นมาจริงๆ ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ ต้องหาเรื่องมาพูดต่อให้จงได้ อาจจะเป็นจุดเล็กๆน้อยๆในกราฟที่ไม่ได้คิดจะนำมาพูดแต่แรก ดีกว่าปล่อยพวก เอิ่ม…อ่า…เอ๋…อืม… ลงไปในไมค์ อัลกอรึทึ่มของ Pearson จะรู้ทันทีว่าคำพวกนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในการบรรยายรูปภาพเลย
👎 เมื่อบรรยายคำตอบเสร็จแล้ว ไม่ยอมคลิ๊ก Next ซึ่งหากคุณปล่อยให้แถบสีฟ้าวิ่งไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่กดปุ่ม Next ระหว่างนั้นอาจมีเสียงของผู้เข้าสอบท่านอื่นแทรกเข้ามาในไมค์ได้ค่ะ หรือระบบของ Pearson อาจเข้าใจว่าคุณปล่อยช่วงเว้นว่างตรงนี้ไป เพราะคุณไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี จึงทำให้เกิดช่องว่างในการบรรยายโจทย์ ฉะนั้นหากคุณบรรยายคำตอบเสร็จแล้ว ให้กดปุ่ม Next ทันทีเลยนะคะ
สำหรับท่านผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากเห็นว่ารูปแบบข้อสอบบนจอคอมพิวเตอร์หน้าตาเป็นอย่างไร สามารถรับชมได้ผ่านทาง VDO ข้างล่างนี้ ซึ่งทำขึ้นโดย PEARSON Official ค่ะ
หลายท่านอาจจะมองว่าเป็น Task นี้ค่อนข้างยากเพราะต้องพยายามหาจุดที่จะอธิบาย แต่หากใครที่เคยผ่านข้อสอบ Writing ของ IELTS มาแล้วน่าจะไม่ค่อยยากเท่าไหร่ เพราะคุณต้องเคยฝึกการเขียนรูปแบบกราฟที่มีหลากหลายมาพอสมควร รูปภาพโจทย์ของ Pearson เอาเข้าจริงๆแล้วก็แทบจะคล้ายกับข้อสอบ IELTS เลยค่ะ แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยผ่าน IELTS มาก่อน เราแนะนำให้ลองฝึกพูดกับกราฟรูปแบบต่างๆ พวกรูปภาพที่มีข้อมูลการเปรียบเทียบ หรือตารางข้อมูลพวกนี้เยอะๆแล้วลองจับเวลาดูค่ะ พอทำเข้าบ่อยๆเราจะเริ่มจับจุดถูกว่าต้องพูดส่วนไหนบ้าง myPTEjourney ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เข้าสอบทุกคนนะคะ หรือหากใครมีคำถามก็สามารถส่งคำถามมาที่อีเมลได้เลยค่ะ