ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : Bad Blood
ชื่อภาษาไทย : เลือดชั่ว
เขียน : John Carreyrou
แปล : สฤนี อาชวานันทกุล
สำนักพิมพ์ : SALT ซอลท์ พับลิชชิ่ง
จำนวนหน้า : 404 หน้า
ISBN : 9786168266069
ภาษา : ไทย
ราคาปก : 450 บาท
เรื่องย่อ
บริษัทดาวรุ่งพุ่งทะยานแห่งเมืองเทคโนโลยีซิลิคอน วัลเลย์ นาม Theranos ก่อตั้งโดย เอลิซาเบธ โฮมส์ สาววัย 19 ปีที่ออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเพื่อเดินทางตามล่าหาความฝัน Theranos เป็นหนึ่งใน Start up ที่ประสบความสำเร็จแบบฉุดไม่อยู่ เทียบได้กับยูนิคอร์นติดปีก เกือบจะเปลี่ยนรูปเป็นเพกาซัสเต็มตัว เหล่าบุคคลมีชื่อเสียงต่างทุ่มระดมทุนให้กับบริษัทเกิดใหม่แห่งนี้ด้วยความความหวังว่าเทคโนโลยีของบริษัทเกิดใหม่แห่งนี้จะทำให้เกิดการพลิกโลกของวงการการแพทย์ เจาะเลือดแบบธรรมดาโดยเข็มแท่งใหญ่มันเชยไปแล้ว เจ็บก็เจ็บ แล้วไหนจะต้องรอผลตรวจอีกเป็นวันๆ Theranos เสนอภาพฝันของการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพียงฉึกเดียวเท่านั้น คุณลูกค้านั่งรอเพียงประเดี๋ยวเดียว ผลการตรวจเลือดกว่าร้อยรายการจะมาประเคนให้ถึงที่
แต่แล้ววันหนึ่งยูนิคอร์นตัวนี้ก็ถูกกระชากลงมาหน้ากระแทกพื้น สิ่งดำมืดที่บริษัทก่อไว้เริ่มปรากฏ ภาพลักษณ์ภายนอกของผู้นำ Theranos เริ่มถูกฉีกออกทีละชิ้นๆ ส่อให้เห็นภายในบริษัทว่ามันช่างระยะตำบอนขนาดไหน ด้วยความกล้าของพนักงานที่มีจรรยาบรรณ และผู้ที่เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ได้ร่วมมือกับนักข่าวเพื่อเปิดโปงบริษัทนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยทำให้นักลงทุนตาสว่าง แต่ยังช่วยชีวิตของคนได้อีกเป็นเบือ
ความรู้สึกหลังอ่าน
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนกับชีวประวัติของบริษัท Theranos ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูรายการโทรทัศน์ที่เอาคดีเกิดขึ้นจริงมาตีแผ่ให้ผู้ชมทางบ้านรับรู้ โดยมีเรื่องราวรายละเอียดผ่านการสอบถามพูดคุยกับทั้งผู้ที่อยู่ในและนอกเหตุการณ์ รวมถึงพยานในคดีมาอธิบายเบื้องลึกถึงที่มาคดีความฉาวโฉ่นี้ เพียงแต่เปลี่ยนจากการรับชมทางโทรทัศน์เป็นการอ่านหนังสือที่มีความยาว 404 หน้าเท่านั้นเอง ซึ่งเราชอบนะ การอ่านอะไรยาวๆแบบนี้มันทำให้เราได้พินิจพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทางไปด้วย
ตัวหนังสือเปิดเรื่องด้วยความไม่ชอบมาพากลในบริษัท ความแคลงใจได้กัดกินจิตใจของผู้บริหารระดับสูง หน้าที่ของพนักงานที่ดีคือแจ้งความสงสัยนี้ต่อผู้บริหารสูงสุดซึ่งก็คือ เอลิซาเบธ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ จงลาออกไปซะ! เห็นไหมล่ะ แค่การเปิดเรื่องก็มีกลิ่นตุๆในบริษัท Start up พันล้านแห่งนี้เสียแล้ว
เนื้อหาภายในเล่มอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจคนที่ชอบอ่านอะไรที่เป็นรายละเอียดมากนัก เพราะเนื้อหาในหนังสือมันค่อนข้างละเอียดมาก แต่ก็อย่างว่า มันเป็นเพราะคนเขียนได้ทำการสืบเสาะเรื่องราว ซักถามผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ แล้วก็ปะติดปะต่อชิ้นข้อมูลเข้าด้วยกัน เนื้อหาในเล่มจึงละเอียดแน่นปึ้ก ตัวละครในเลือดชั่วเล่มนี้จึงเยอะมากเป็นพิเศษ อันนี้เราไม่ได้นับนะแต่เท่าที่พอจำได้ก็เกือบ 50 คนเห็นจะได้ หรืออาจมากกว่านิดหน่อย มีทั้งคนที่ทำงานมานาน คนที่เข้ามาแล้วออกไป คู่สมรสของพยานเหล่านี้ มากมายหลากหลายเกิดจะจำชื่อไหว แต่คนที่มีบทบาทมากในเรื่องนี้ก็พอจำชื่อได้อยู่
Bad blood พาเราย้อนเข้าไปสู่จุดเริ่มต้นของการคลอดบริษัท Theranos การระดมทุน การเฟ้นหาพวกหัวกะทิเพื่อมาสร้างเทคโนโลยีชีวภาพ เนื้อหาค่อนข้างหนักหน่วงในเรื่องการอธิบายวิธีการทำงานของเทคโนโลยีเคลมว่ามันจะช่วยโลกได้ คนเขียนอธิบายละเอียดจริงๆว่ามันทำงานอย่างไร มีโอกาสผิดพลาดแบบไหน การตรวจเชิงเคมีนั้นมีรูปแบบได้แบบไหน กระบวนการตรวจสอบเทียบกลับจะต้องทำอย่างไร คือขนาดเราเรียนชีวะมาก็ยังต้องค่อยๆอ่าน ยังไม่ทันจะปรับจูนสมองก็ถูกชกเข้าที่ท้องอย่างจังเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการทางกฎหมายที่เข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้เกี่ยวเนื่องกับชีวิตคน หลังจากเซกับความละเอียดด้านกฎหมายแล้วคุณก็จะถูกสวนเข้าอีกหมัดเกี่ยวกับการอธิบายเรื่องเชิงพาณิชย์อย่างการระดมทุน การโยกหุ้น การหลีกเลี่ยงกฎหมาย และการใช้ตัวบทกฎหมายในการฟ้องร้องลิขสิทธิ์ แต่ถ้าถามว่าอ่านยากไหม? เราขอตอบว่าไม่เลย แต่สำหรับเราคงต้องไปช้าๆหน่อย เพราะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกฎหมายและการจัดตั้งบริษัทมากนัก เลยต้องค่อยๆระเลียดอ่านไป
เนื้อหาในเลือดชั่วค่อยๆเผยด้านมืดออกมาทีละหน่อย ไปจนถึงจุดที่คนเริ่มทนไม่ไหว แต่โชคดันไม่เข้าข้างผู้ที่มีอำนาจน้อย เพราะในขณะที่พนักงาน Theranos อยากจะออกมาประกาศให้โลกรู้ว่าสิ่งที่ทุกคนเห็นมันคือการหลอกลวง เอลิซาเบธก็กลายเป็นไอดอลขวัญใจคนในวงการที่ไม่มีใครหน้าไหนมาสกัดเธอไว้ได้ คนที่สงสัยงานของ Theranos ก็ได้แต่เก็บไว้ในใจเงียบๆแล้วทำไมเอลิซาเบธถึงมาได้ไกลขนาดนี้น่ะหรอ? ก็อาจจะด้วยที่ครอบครัวของเธอเองมีคอนเนคชั่นกับคนมีชื่อเสียง พวกเศรษฐี พวกนักการเมือง และอาจจะด้วยบุคลิกแปลกๆของเธอเอง
คำว่า “โซซิโอพาท” (sociopath) มักใช้หมายถึงใครสักคนที่ไร้ซึ่งมโนธรรมสำนึก หรือมีเพียงน้อยนิด
Bad blood เลือดชั่ว
เอลิซาเบธ โฮมส์สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อได้ก็จริง แต่เธอก็เข้าเรียนไม่กี่เทอมเท่านั้น เธอออกจากสถานศึกษากลางคันเพื่อมาสานฝันสร้างกิจการที่ Theranos หากใครเคยอ่านข่าวเกี่ยวกับพวกบริษัท Start up หน้าใหม่มาก่อน เราคิดว่าคุณต้องรู้จัก Theranos แน่ๆ ตัวเราเองเคยเห็นหัวข้อข่าวผ่านๆเกี่ยวกับ Start up รายนี้ว่าเจ๊งไปเรียบร้อยแล้ว พอเห็นหนังสือเล่มนี้มาก็อดใจซื้อไม่ได้ Theranos บริษัทดาวรุ่งพุ่งแรง มีผู้บริหารหญิงหน้าตาดีผมสีบลอนด์ ตากลมโตสีฟ้าจนแทบจะสะกดคุณไว้ในกำมือ เธอชอบใส่เสื้อคอเต่าสีดำพร้อมด้วยสูทนอกและกางเกงขายาวสีดำโทนเดียวกัน อืม…อย่าเรียกว่าชอบเลย เราว่าเอลิซาเบธต้องมีเสื้อแบบนี้อีกเป็นโหลๆแน่ เพราะเธอจะปรากฏตัวด้วยการแต่งกายแบบเดียวกันนี้ในทุกๆงานและทุกๆภายถ่ายบนปกนิตยสารชื่อดัง นอกจากนี้ลักษณะการนั่งให้สัมภาษณ์ การมีเสียงทุ้มต่ำเลียนแบบผู้ชายของเธอก็เป็นที่โจษจันกันว่ามันปลอมชัดๆ พยานหลายคนบอกว่าเวลาที่เอลิซาเบธเก็บอารมณ์ไม่อยู่ เธอก็มีเสียงแบบผู้หญิงปกติทั่วไปนี่เอง
อาจจะเป็นเพราะด้วยบุคลิกแปลกๆพร้อมด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าตรงนี้ก็ได้ล่ะมั้ง ที่ทำให้นักลงทุนกระเป๋าหนักยอมลงขันเพื่อที่หวังฟันกำไรในอนาคต คิดดูแล้วกันว่าถึงขนาดทำให้อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมผู้เจนศึกมาเป็นคณะกรรมการให้กับบริษัทได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อเธอจนหมดหัวใจ… โชคยังดีที่ยังมีบางบริษัทพอจะมองทะลุเห็นความจริงได้ แน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็พวกบริษัทเทคโนโลนยีด้านการแพทย์น่ะแหล่ะ พวกเขาทันเอลิซาเบธพอที่จะไม่ลงทุนกับ Theranos
กราฟชีวิตของบริษัทเมื่อขึ้นสู่ยอดฟ้า หากไม่บริหารบริษัทให้ดี ไม่มีธรรมภิบาลเป็นตัวตั้ง ไฉนเลยบริษัทจะอยู่ยั่งยืนยงต่อไปได้ สิ่งที่เอลิซาเบธและเเฟนชาวอินเดียของเธอบังคับให้พนักงานทุกระดับชั้นต้องทำตามคือการหลอกลวงผู้บริโภค ผลตรวจจากสิ่งประดิษฐ์ของบริษัทชื่อหรูหราอย่าง เอดิสัน มีผลการตรวจเลือดที่ผิดไปจากความเป็นจริงมาก นอกจากนี้บริษัทยังใช้การตรวจเลือดด้วยวิธีดั้งเดิมหลายรายการ แต่กลับเที่ยวป่าวประกาศว่ามาจากการตรวจเลือดแบบเจาะปลายนิ้วตามที่บริษัทเคยได้โม้ไว้ พนักงานผู้ยึดมั่นในจรรยาบรรณหลายคนทนมองดูไม่ได้ พวกเขาอยากจะลาจากโรงละครโรงใหญ่แห่งนี้เหลือเกิน แต่การลาออกมันไม่ได้ทำง่ายๆที่ Theranos ผู้ประสบเหตุได้เล่าถึงช่วงเวลาอันน่าหวาดผวาจากการสะกดรอยตาม การกดดันข่มขู่ผ่านการฟ้องร้องจนกว่าจะหมดตัวโดยทีมงานของทนายชื่อดังระดับประเทศ เห็นไหม? ใช่ว่าลาออกอย่างเดียวแล้วเรื่องทุกอย่างจะจบ อาจจะยังต้องสิ้นเนื้อประดาตัวอีกด้วย แต่การสูญเสียทรัพย์สินคงเทียบไม่ได้เลยกับชีวิตที่ดับลงเพราะความเครียดจากการทำงานที่ Theranos เราขอร่วมไว้อาลัยให้กับ เอียน กิบบอนส์ น่าเศร้าอย่างยิ่งที่เอลิซาเบธ โฮมส์และซันนี-แฟนของเธอ กลับเพิกเฉยต่อการสูญเสียในครั้งนี้
หนังสือถ่ายทอดความรู้สึกหวาดกลัว ประหม่า การเฝ้าระวังขั้นสูงสุดพอที่จะทำให้พนักงานประสาทกิน การคอร์รัปชัน ความหยาบคายที่ผู้บริหารมีมากเท่าที่จะทำได้กับผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วถ้าหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราล่ะ? ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าสิ่งที่บริษัทไม่ถูกต้อง เราจะรับมืออย่างไรดีกับอีกฝั่งที่ถือไพ่เหนือกว่าทุกทางทั้งกำลังคนกำลังเงิน หนังสือเล่มนี้ได้เปิดเผยให้เห็นว่าบริษัทแถวหน้าในซิลิคอน วัลเลย์ ก็ยังคงหนีไม่พ้นกับสิ่งที่ทุกคนอาจจะต้องเจอในสังคมการทำงานอย่างการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เล่นพวกพ้อง งานไม่มาแต่การเอาหน้าต้องเป็นที่หนึ่ง
ข่าวลือเรื่องเมืองไทยทำให้เธอหวั่น เธอรู้ดีว่าอเมริกามีกฎหมายต่อต้านการติดสินบนชื่อ “กฎหมายพฤติกรรมคอร์รัปชันในต่างแดน”
Bad blood เลือดชั่ว
อย่างที่หลายคนเคยได้ยินว่า ‘สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ’ แรงกดดันและรอยแผลที่เอลิซาเบธสร้างไว้กับพนักงานเหล่านี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นความกล้า แอลัน บีม, ไทเลอร์ ชัลตช์, เอริกา เชิง หนึ่งในเหล่าผู้กล้าคนสำคัญที่ก้าวเข้ามาเพื่อที่จะมาเผชิญหน้ากับบริษัทนรกแห่งนี้ที่ พวกเขาเป็นพยานปากสำคัญให้กับนักข่าวจอมขุดอย่าง จอห์น แคร์รีรู ประจำสำนักข่าว Journal จนสามารถกระชากยูนิคอร์นตัวนี้ลงมาหน้ากระแทกพื้นได้สำเร็จ
อันที่จริง เราคิดว่าคนที่หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารชื่อดังต่างๆควรยกย่องไม่ใช่เอลิซาเบธ โฮมส์ ว่าเป็นสาวน้อยแหล่งวงการซิลิคอน วัลเลย์ ที่ๆอำนาจของความเป็นชายแผ่ปกคลุมไปทุกพื้นที่ ตอกย้ำว่าเอลิซาเบธ โฮมส์คือหญิงแกร่งหนึ่งเดียวที่ผงาดมางัดข้อกับพวกผู้ชายได้ คนที่ควรถูกยกย่องจริงๆแล้วคือเอริกา เชิง เธอคือผู้หญิงที่กล้ามาต่อกรกับอำนาจมืด เสี่ยงที่จะสิ้นเนื้อประดาตัวโดยที่ครอบครัวของเธอไม่ได้ร่ำรวยอะไร รวมไปถึงพนักงานคนอื่นๆที่ถึงแม้จะขอปกปิดตัวตน แต่พวกเขาก็ยอมเสี่ยงเพื่อที่จะผลักดันความไม่ชอบธรรมให้ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน เธอคือพลังที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงคำว่า Whistleblower และพวกสื่อควรหันมาทบทวนวิธีการทำงานด้วยซ้ำว่าควรตรวจสอบแหล่งข่าวให้ดีเสียก่อนที่จะโหมกระพือชื่อเสียงของเอลิซาเบธ
****************
หน้าที่พิมพ์ผิด
หน้า 195 สัดส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่พวกเขาหวังว่าจะน่าแปลงเป็นลูกค้าได้จริงในทางปฏิบัติ ควรจะเป็น สัดส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่พวกเขาหวังว่าน่าจะแปลงเป็นลูกค้าได้จริงในทางปฏิบัติ
หน้า 347 หลังจากนั้นสักพัก ซันนี บัลวานี, แดเนียล ยัง, เฮเทอร์ คิง และเมเรดิท เดียร์บอน จากบอยส์ชิลเลอร์ก็เดินเข้ามา ควรจะเป็น หลังจากนั้นสักพัก ซันนี บัลวานี, แดเนียล ยัง, เฮเทอร์ คิง และเมเรดิท เดียร์บอน จากนั้นบอยส์ ชิลเลอร์ก็เดินเข้ามา
*******************************************
ไม่ได้พิมพ์ผิดแต่ควรจะตรวจสอบอีกครั้ง
หน้า 243 …มั่นใจได้เลยว่าบริษัทไม่ได้ทำผิดกฎหมายข้อไหนหรอก ไทเลอร์ฟังแล้วไม่ซื้อ ควรจะเป็น …มั่นใจได้เลยว่าบริษัทไม่ได้ทำผิดกฎหมายข้อไหนหรอก ไทเลอร์ฟังแล้วไม่เชื่อ (ตรงนี้เราว่ามาจากต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษว่า I don’t buy it/He doesn’t buy it ที่แปลว่าไม่เชื่อ)