ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : –
ชื่อภาษาไทย : แม่มด ประวัติศาสตร์แห่งไสยเวท
เขียน : อัคนี มูลเมฆ
แปล : –
สำนักพิมพ์ : ยิปซี
จำนวนหน้า : 256 หน้า
ISBN : 9786163016805
ภาษา : ไทย
ราคาปก : 230 บาท
ความรู้สึกหลังอ่าน
บอกตรงๆว่าตอนแรกเราคาดหวังว่าหนังสือจะเล่าเรื่องราวความเป็นมาของแม่มด ศาสตร์ของแม่มด คาถาต่างๆหรือพิธีกรรมอะไรพวกนี้ที่เกี่ยวกับแม่มด แต่เปล่าเลย เนื้อหาในหนังสือทั้งหมด 7 บท บวกภาคผนวกอีก 1 เหมือนเป็นการเอาเนื้อหาของลัทธินอกรีตต่างๆมายำรวมกันโดยที่รสชาติมันไม่เข้ากันเลย คือเวลาอ่านหนังสือเล่มอื่นที่เป็นเรื่องบรรยาย มันก็จะมีย่อหน้าแล้วก็เล่าเรื่องเพื่อให้เรื่องปะติดปะต่อกันใน 1 ย่อหน้าใช่ไหม แต่เรื่องราวของแม่มดในเล่มนี้ผู้เขียนได้เขียนแบบ 1 ย่อหน้ามีประมาณ 5-7 บรรทัดแล้วก็ขึ้นย่อหน้าใหม่ที่มีเนื้อหาแตกออกไปจากเดิม เนื้อหาเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่มันไม่ต่อกัน แบบว่าย่อหน้านี้อยากจะเขียนเจาะจงเกี่ยวกับเรื่องนาย ก. ช่วงปี 1800 อยู่ 5 บรรทัด ย่อหน้าถัดมาดันเป็นเรื่องของนาย ข. ในปี 1870 สักประมาณ 4 บรรทัด ย่อหน้าต่อจากนั้นเป็นเรื่องของนายฮ.ไปโรงเรียนครั้งแรก การเขียนสะเปะสะปะแบบนี้คนอ่านยังไม่ทันจับใจความสำคัญเลย ไม่รู้จะหยิบจับตรงไหนมาต่อกันให้เป็นแก่นสารของเรื่อง จึงกลับเข้ามาสู่คำบรรยายของความรู้สึกเราข้างต้นว่าเหมือนกินรวมยำที่รสชาติไม่เข้ากันเลย ให้อธิบายก็ยังยากเลยว่าสิ่งที่กินเข้าไปรสชาติมันเป็นอย่างไร
บทแต่ละบทในหนังสือไม่ได้เกี่ยวโยงกับแม่มดเสียทีเดียว หนังสือเปิดเรื่องด้วยความเป็นมาของแม่มดตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เราเริ่มเรียนรู้ที่อยู่เป็นกลุ่มด้วยกัน แม่มดในยุคบรรพชนมีต้นกำเนิดมาจากอะไร ทำไมจึงเป็นที่นับถือของคนในกลุ่ม แต่ละประเทศมีการนับถือพระเจ้าอะไรบ้าง ความเป็นมาของเทพเจ้าแต่ละองค์ วนๆกันไป แต่ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือเชิงปรัชญาอย่างไรอย่างนั้น (ยังไงเราก็ว่าหนังสือเชิงปรัชญาอ่านรู้เรื่องกว่าหนังสือเล่มนี้นะ) มันทำให้เราง่วงนอนมาก ต้องเรียกว่าฝืนอ่านเลยหล่ะ ใครที่หวังจะได้อ่านเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แม่มด หรือข้อมูลเรื่องราวของแม่มด/พ่อมดแบบแน่นๆ ขอบอกเลยว่าท่านต้องผิดหวังแน่นอน และจะมีคำถามว่า ‘นี่มันหนังสืออะไรเนี่ย’
บทต่อๆมา เป็นเรื่องปีศาจวิทยา พวกลัทธิซาตาน พวกศาสนานอกรีตทั้งหลายแหล่ ทั้งที่เคยได้ยินมาก่อนและไม่เคยได้ยินมาก่อน ซึ่งผู้อ่านอย่างเราพยายามหาใจความสำคัญแต่ก็หาไม่เจอสักทีว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไร ประเด็นอยู่ตรงไหน เราพยายามมองว่าผู้เขียนจะสื่อถึงเรื่องราวความเป็นมาโดยการปูภูมิของลัทธิเหล่านี้ แต่มันก็ไม่ใช่อยู่ดี มันเหมือนจับเอานู่นนี่มารวมๆกันเพื่อให้เกิดเป็นบท 1 บท บางครั้งก็เหมือนกับว่าเอา quote ที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับตอนนั้นๆมาใส่อยู่ในย่อหน้าเสียเฉยๆ
เนื้อหาทั้งหมด 7 บทก็จริง แต่ตั้งแต่บทที่ 1 จนถึงประมาณกลางบทที่ 5 ก็ยังจับใจความสำคัญไม่ค่อยได้อยู่ดี เหมือนผู้เขียนจะบรรยายวกไปวนมา เข้าช่องนู้น ออกช่องนี้ รู้สึกว่าเนื้อหามันเหมือนวนอยู่ในอ่าง กว่าจะได้อ่านเรื่องราวแบบที่เป็นเรื่องราวจริงๆก็ปาเข้าไปบทที่ 5 ปลายๆนู่นแหน่ะ
บางย่อหน้าทำราวกับว่าพยายามจะเขียนเพื่อทำให้ประโยคมีความยาวขึ้นโดยการเพิ่มส่วนขยายที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย ตัวอย่างเช่น ‘ชื่อของจาค็อบถูกเพิ่มเข้าไปในฐานะผู้ร่วมเขียนเมื่อปี 1519 หรือ 33 ปี หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรก และ 24 ปีหลังจากการเสียชีวิตของเขา’ ตรงนี้เรามองว่าผู้เขียนเลือกเอาอย่างใดอย่าหนึ่งเถอะว่าจะ 33 ปี หรือ 24 ปี ของช่วงไหนในชีวิต มันไม่จำเป็นต้องลงลึกไปขนาดนั้น เพราะแทนที่จะขยายความกลายเป็นขยายความสับสน เหมือนตั้งใจจะใส่มาให้ผู้อ่านบวกลบเลขแบบงงๆเล่น ช่วงบทแรกๆจนถึงกลางเล่มก็จะเจออะไรแบบนี้อยู่พอสมควร
ข้อคิดเห็นในการปรับปรุงหนังสือเล่มนี้อีกอย่างคือ การวางรูปประกอบ แบบว่าเนื้อหาบรรยายหนังสือชื่อ ‘ค้อนแห่งแม่มด’ แต่ดันเอารูปหนังสือไปไว้ก่อนเนื้อหาส่วนนี้อยู่ประมาณ 2-3 หน้า หรือเมื่อกล่าวถึงนักเขียนชื่อดัง มาร์ค ทเวนในหน้านี้ แต่กลับเอารูปของมาร์ค ทเวนไปใส่อีก 2 หน้าให้หลัง โดยเนื้อหาตรงนั้นดันเป็นการพูดถึงเรื่องเครื่องทรมานแม่มดในยุคมืด รูปของนักเขียนท่านนี้อยู่บนรูปเก้าอี้ตอกหมุดตะปู ด้านขวามือของมาร์ค ทเวน เป็นเครื่องทรมานปลายแหลมที่เอาไว้สวนทวารผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด มันไม่ได้สอดคล้องอะไรกันเลยกับรูปของนักเขียนชื่อดังอย่างมาร์ค ทเวน คือถ้าท่านฟื้นขึ้นมาคงได้มีสะกิดบอกให้ช่วยย้ายรูปของผมหน่อยเถอะ ทางสำนักพิมพ์ควรปรับปรุงตรงนี้อย่างมาก เพราะเป็นแบบนี้แทบจะทั้งเล่ม
เอาหล่ะ ติหนังสือเล่มนี้ซะเยอะ มาถึงส่วนดีกันบ้าง เพราะเราเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มให้ประโยชน์กับผู้อ่าน (ถึงแม้ว่ามันจะไม่สนุกเลยก็ตาม) หนังสือทำให้ผู้เขียนได้ใช้เวลาไปกับมัน ทำให้เราก่อเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ และหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยให้เราได้คิดอะไรหลายๆอย่าง
หากอิงตามหนังสือเล่มนี้ แม่มดถือกำเนิดจากผู้ที่เชื่อและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เป็นผู้ที่รักและปกปักษ์สิ่งที่โลกได้มอบให้กับมนุษย์ แต่เมื่อถึงยุคที่ผู้มีอำนาจได้ก้าวขึ้นมา พวกเขามีความคิดต้องการขจัดกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อของตน จึงได้สั่งการกวาดล้างฆ่าผู้คนฝ่ายตรงข้าม ทั้งๆที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ก่ออันตรายใดๆให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจเหล่านี้เลย ช่วงนี้จึงเกิด ‘การล่าแม่มด’ ขึ้น แต่ในเมื่อศาสนจักรได้ผนวกเข้ากับการเมือง ทำให้พวกเขามีอำนาจเหลือล้นเกินต้านทาน เหล่ากษัตริย์และผู้นำระดับสูงเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่เกิดขึ้น หากใครคิดเห็นต่างก็จงฆ่าเขาเหล่านั้นเสียโดยอ้างพระผู้เป็นเจ้าในการกระทำสิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ฉะนั้นแล้ว คำว่า ‘ล่าแม่มด’ จึงสามารถนำมาใช้ได้อยู่เสมอถึงแม้เราจะอยู่ในศตวรรษที่ 21
คริสตจักรโรมันคาธอลิกประกาศว่า หากต้องฆ่าผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่เห็นจะเป็นไร พระเจ้าจะจดจำไว้ และเขาผู้นั้นก็จะได้ไปสวรรค์
หนังสือแม่มด ประวัติศาสตร์แห่งไสยเวท
ระบบการกล่าวหาทำให้มีผู้บริสุทธิ์หลายหมื่นจนหลายแสนคนต้องกลายเป็นนักโทษที่น่ารังเกียจไปโดยปริยาย แม้แต่ญาติพี่น้องก็ไม่กล้าเข้าใกล้ ด้วยเพราะความกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดหรือพ่อมดไปด้วย เราทำใจไม่ได้เลยเมื่อต้องอ่านเนื้อหาพร้อมดูรูปประกอบเกี่ยวกับเครื่องทรมานผู้ที่ถูกกล่าหาเหล่านี้ คนคิดค้นอุปกรณ์สังหารพวกนี้หากเอาดีด้านอื่นประเทศคงพัฒนาไปไม่น้อย เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้ที่ถูกกล่าวหาถึงเรียกร้องความตายมากกว่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อถูกคุมขัง ใช่ว่าการเพรียกร้องหาความตายจะเป็นเรื่องที่มอบให้ได้โดยง่าย การทรมานจะไม่จบลงเพียงเพราะผู้เคราะห์ร้ายสารภาพว่าตนเองเป็นพวกนอกรีตเนื่องจากทนความเจ็บปวดไม่ไหว แต่คำสารภาพนั้นจะต้องได้รับการยืนยันอีกด้วยว่าเป็นเรื่องจริง! ใครเล่าจะไปนึกว่าเพียงเพราะความเชื่อและต้องการครองอำนาจที่ตนมีจะทำให้คนเรากระทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ถึงเพียงนี้
“เป็นฝันร้ายที่น่าตระหนก เป็นอาชญากรรมอันร้ายกาจ แบะเป็นความน่าละอายที่สุดของอารยธรรมตะวันตก!”
อาร์.เอช.ร็อบบินส์ (R.H. Robins)
และแน่นอนว่าในทุกยุคทุกสมัย ย่อมมีผู้ต่อต้านวิธีการอันไร้ซึ่งมนุษยธรรมเหล่านี้ หลายคนยืนหยัดในความถูกต้องถึงแม้ว่าพวกเขาจะต้องถูกทรมานก่อนชีพจะสูญสิ้น บาทหลวง Giordano Bruno ผู้ที่อุทิศตนให้กับวิทยาศาสตร์และเชื่อว่าจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นผู้ถูกขับไล่ออกจากศาสนาและถูกเผาทั้งเป็น ถึงแม้ท้ายที่สุดเขาจะถูกยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตนให้กับวิทยาศาสตร์ แต่ก็คงไม่มีความหมายอะไรมากนักในเมื่อร่างของเขาไร้วิญญาณไปเสียแล้ว บาทหลวงท่านนี้จะรับรู้ไหมนะว่าผู้คนในปัจจุบันได้ล่งข้อกล่าวหาให้ท่านและกู้เกียรติของท่านกลับคืนมา
หรืออย่างคดีการสอบสวนแม่มดที่โด่งดังอย่าง ‘คดีซาเล็ม’ ที่มีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดหลายร้อยคน เพียงเพราะเชื่อลมปากของเด็กสาวที่ชี้ส่งเดชกล่าวหาผู้อื่น เมื่อเรื่องราวเริ่มใหญ่โต ย่อมมีคนที่ไม่สามารถยืนมองและเพิกเฉยไปกับความอยุติธรรมครั้งนี้ ท้ายที่สุดก็มีกลุ่มคนยื่นฎีกาให้พิจารณาการไต่สวนถึงความถูกต้องในคดีนี้ เมื่อภัยมาถึงตัวแน่นอนว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในการไต่สวนในคดีซาเล็มก็แก้ต่างให้กับตนเองว่าสิ่งที่ทำไปล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้ความควบคุมของปีศาจ
ส่วนตัวเรามองว่ามันเสมือนเป็นวัฏจักร อำนาจมีขึ้นก็ต้องมีลง ยามเมื่อคริสจักรมีอำนาจล้นเหลือ อยากจะพรากชีวิตใครก็ทำได้ แต่ท้ายที่สุดความไม่ถูกต้องก็ต้องเจอกับการต่อต้านและถูกเปลี่ยนแปลง
กลับมาที่ตัวหนังสือกันบ้าง ความรู้สึกคือเราไม่อยากจะเชื่อว่ามันนี่เป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2 บางทีก็นึกสงสัยว่าที่หนังสือเล่มนี้มีการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 อาจเป็นเพราะว่าคนซื้อนึกว่าเป็นเรื่องเจาะลงเกี่ยวกับแม่มดหรือเปล่านะ
****************
หน้าที่พิมพ์ผิด
หน้า 106 จักรพรรดิเธโอโอซิอุสที่ 1 ควรจะเป็น จักรพรรดิธีโดโอซิอุสที่ 1 (นอกจากจะแก้คำผิดแล้ว ก็ควรเขียนให้เหมือนกับหน้าก่อนด้วย)
******************************************
ไม่ได้พิมพ์ผิดแต่ควรจะตรวจสอบอีกครั้ง
หน้า 15 อันที่จริงในฐานะผู้มีการศึกษาและเฉลียวฉลาดทั้งเพลโตและอริสโตเติลรู้ดีว่าแม่มดคืออะไรเรื่องราวของไสยลัทธิยังปรากฏชัดอยู่ใน ‘โอดีสซีย์’… ควรจะเป็น อันที่จริงในฐานะผู้มีการศึกษาและเฉลียวฉลาด (เว้นวรรค) ทั้งเพลโตและอริสโตเติลรู้ดีว่าแม่มดคืออะไร (เว้นวรรค) เรื่องราวของไสยลัทธิยังปรากฏชัดอยู่ใน ‘โอดีสซีย์’…
หน้า 15 ที่นั่นเองพวกเธอทำนายอนาคตระหว่างนั้นจะมีนักบวชอีกคนคอยอธิบายความหมายที่เธอสื่อออกมาก ควรจะเป็น นั่นเองพวกเธอทำนายอนาคต (เว้นวรรค) ระหว่างนั้นจะมีนักบวชอีกคนคอยอธิบายความหมายที่เธอสื่อออกมาก
หน้า 221 ทั้งนี้อาจเป็นผลจากหนังสือ ‘แฮร์รี่ พอร์ทเตอร์’ ควรจะเป็น ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’