เป็นยังไงมายังไงถึงมาสอบ PTE?

กว่าจะได้รู้จัก PTE ก็ใช้เวลาอยู่เป็นปี ตามที่เคยเกริ่นไว้ใน เว็บไซต์ myPTEjourney นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดจากการที่ต้องการให้คะแนนทักษะการสอบภาษาอังกฤษทุกทักษะได้เกณฑ์ตามที่ตั้งไว้ อย่าง IELTS เราตั้งเป้าไว้ที่ทุกแบนด์ต้องไม่น้อยกว่า 7 แต่เรื่องของเรื่องคือมันติดตรงพาร์ท writing เนี่ยแหล่ะ สอบครั้งแรกได้ 6 ครั้งที่สองห่างกันประมาณปีนึงเป๊ะได้ 6.5 กว่าจะได้ 7 คงต้องใช้เวลา 2 ปีแน่นอนโดยเทียบกับระยะเวลาการฝึกฝนของตนเอง สำหรับการดันตัวเองให้ไปถึงจุดนั้น เราเลยคิดว่าเบนเข็มไปสอบอย่างอื่นดีกว่า

จากนั้นก็ดูว่าประเทศออสเตรเลียมีรับเกณฑ์การสอบทักษะภาษาอังกฤษอะไรบ้าง ก็มีทั้ง IELTS  (Academic/General), TOEFL (iBT), PTE (Academic), OET, Cambridge C1 Advanced test แล้วก็มานั่งคิด นอนคิด ทำงานไปก็คิดได้ตามนี้

  1. IELTS (Academic/General) ยาก ยากในที่นี่หมายถึงกว่าจะดันคะแนนพาร์ทเขียนขึ้นมาเป็น 7 ต้องใช้เวลาพอควร ถึงแม้จะเป็นการสอบแบบ General ก็เถอะ ท้ายที่สุดแล้วคะแนนมันไม่มีความแน่นอน ความเหวี่ยงขึ้นลงขึ้นอยู่กับ ‘คน’ตรวจข้อสอบเป็นหลัก ซึ่งมันไม่ได้มีเฉพาะแค่พาร์ทเขียน แต่ยังรวมไปถึงพาร์ทการพูโด้วย เราสอบ 2 ครั้ง เจอคนสอบคนเดียวกันทั้ง 2 ครั้ง คะแนนลดจาก 8 เหลือ 7 อาจจะด้วยเนื้อเรื่องในการสอบครั้งหลังเป็นเรื่องของเสื้อผ้าที่เราไม่ค่อยรู้ศัพท์เท่าไหร่ แต่นี่คือข้อพิสูจน์ว่าคะแนนการสอบ IELTS  มันมีขึ้นลง สำหรับเราถ้าคะแนนหายไป 0.5 คะแนนมันก็มีความหมาย
  2. TOEFL (iBT) อันนี้เก็บเอามาคิด มีเรื่องให้ต้องเรียนรู้อีกเยอะว่าข้อสอบเป็นอย่างไร เราไม่ทราบเนื้อหาในการสอบมาก่อนเลย ยังคงต้องใช้เวลาในการศึกษาแนวข้อสอบอยู่พอสมควร ที่ไม่ได้สนใจจะสอบ TOEFL เท่าไหร่ก็ด้วยเราไม่ได้นึกจะไปเรียนต่อฝั่งอเมริกาด้วย เลยไม่ค่อยได้หมกมุ่นกับข้อสอบตัวนี้มาก
  3. PTE (Academic) เก็บไว้ในใจเช่นกัน ตัวนี้เป็นข้อสอบภาษาอังกฤษที่ยังใหม่อยู่มาก ใหม่ทั้งกับคนทั่วโลก แต่สำหรับเราชาวไทยถึงว่าใหม่เอี่ยมแบบว่าแกะของออกมาจากกล่องยังได้กลิ่นใหม่ของของชิ้นนั้นอยู่เลย
  4. OET ตัดออกเป็นข้อแรก ชื่อเต็มของมันคือ Occupational English Test เป็นการสอบภาษาอังกฤษที่ใช้กับอาชีพนั้นๆโดยตรงเช่นพวกสาย Health care และได้ยินเสียงร่ำรือว่ามันว่าค่อนข้างที่จะมีศัพท์เฉพาะของวงการนั้นๆด้วย ยังไม่ทันได้ศึกษาด้วยว่าศูนย์สอบในไทยหรือไม่ ค่าสอบเท่าไหร่
  5. Cambridge C1 Advanced Test ตัดออก ฟังดูรุนแรงไปไหม? ฮา คือเพราะเรามีตัวเลืือกหลักๆที่เราจะเอามาพิจารณาแล้วว่าจะเอามาศึกษา ส่วนข้อสอบตัวนี้ก็เคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง พออ่านคร่าวๆแล้วระบบการเลือกระดับสอบ การให้คะแนน และไม่แน่ใจว่าศูนย์สอบมีในประเทศไทยรึปล่าว มันฉีกออกไปอีกแนวเลย เราจึงเอาตัวเลือกข้อนี้ออกไปเพื่อให้เหลือตัวเลือกที่น้อยลง และใช้เวลาไม่มากในการตัดสินใจว่าจะเดินไปทางสายไหนดี

 เพราะฉะนั้นตอนนี้เหลือเพียง TOEFL (iBT) VS PTE (Academic)แต่เราเลือกสอบ PTE

แล้วทำไมไม่สอบ TOEFL? ทั้งๆที่คนที่จะไปเรียนต่อครึ่งหนึ่งสอบ IELTS อีกครึ่งสอบ TOEFL?

คำตอบคือ เท่าที่เราศึกษามาด้วยตัวเอง การสอบTOEFL ใช้ศัพท์ที่เป็นศัพท์ทางเทคนิคและวิชาการเยอะ เราไม่ล้าที่จะต้องมานั่งเรียนรู้ศัพท์เพื่อไปสอบข้อสอบอีกตัว (ไม่ใช่ว่าการเรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆเป็นเรื่องไม่ดีนะ มันเป็นเรื่องที่ดีมากเลยหล่ะ แต่เวลานั้นมันไม่อยากยัดศัพท์ที่เป็นเชิงเทคนิคเข้าหัวอีกแล้ว) รวมถึงหลายรีวิวบอกว่ามันค่อนข้างที่จะหินกว่า IELTS 
แต่เอาหล่ะ อย่าไปเชื่อรีวิวให้มันมาก เราเลยลองมาศึกษาด้วยตัวเองจาก Youtube บ้าง จากเว็บบอร์ดที่ชาวต่างชาติเข้าไปคุยกันบ้าง โดยสิ่งที่เราสนใจในการเอามาวิเคราะห์คือคนส่วนใหญ่จะมีปัญหาตรงส่วนไหนในข้อสอบ ซึ่งเราพบว่าTOEFL ยังไม่สามารถปิดจุดด้อยเราได้ดีที่สุด ว่าง่ายๆคือมันยังดึงจุดอ่อนของเราออกมาพอสมควร

แล้วทำไมเลือกสอบ PTE ทั้งๆที่คนไทยรู้จักน้อยมาก แนวข้อสอบก็ไม่ค่อยมี?

เราเองก็ไม่เคยสองสอบ TOEFL ไม่เคยรู้เวลาสอบจริงๆนั้นจะเป็นอย่างไร แต่อีกเหตุผลที่เทใจไปที่ PTE ก็เพราะว่าใจเรามันไปทางออสเตรเลียแดนจิงโจ้นั่นเองซะแล้ว เลยคิดว่างั้นสู้ไปเริ่มต้นกับ PTE ไม่ดีกว่าหรอ? ไหนๆก็ต้องเริ่มใหม่ ปรับตัวกับวิธีการสอบใหม่เหมือนกัน 

จริงๆประเด็นการเลือกข้อสอบมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลนะคะ มันแล้วแต่จุดประสงค์ของเราเลยว่าจะไปเรียนต่อ จะตั้งรกรากอยู่ที่ส่วนใดของโลก มันแล้วแต่ความรู้สึก ความชินมือของแต่ละคนเลยนะว่า ‘รู้สึก’ ว่าอะไรเหมาะกับตัวเองกว่ากัน อะไรที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้ดีกว่ากัน การเลือกข้อสอบให้ตรงกับความเป็นตัวเองและสามารถดึงศักยภาพของเราออกมาได้ดีที่สุดจึงเป็นการตัดสินใจส่วนบุุคคล ไม่มีถูกผิด บางคนอาจจะสอบข้อสอบตัวนี้ได้คะแนนไม่เปฌนที่พอใจ แต่พอไปสอบอีกตัว เราอาจจะได้คะแนนอยู่ในระดับที่ดีกว่าข้อสอบชนิดแรกก็เป็นได้ อย่างส่วนตัวเราลองไปเปิดแนวข้อสอบ TOEFL มาแล้ว และบวกด้วยจุดประสงค์กับแผนในอนาคตส่วนตัว เราตัดสินใจได้ทันทีเลยว่า PTE เหมาะกับตัวเรามากกว่า

ทั้ง PTE และ TOEFL เป็นการสอบโดย Computer based test เหมือนกัน ราคาพอๆกัน แต่อย่างน้อยมันก็ถูกกว่า IELTS Iเมื่อครั้งที่ไปสอบ PTE ตอนนั้นราคาอยู่ที่ 180 USD แต่ปัจจุบันขึ้นราคามาอยู่ที่ 200 USD เอาเถอะอย่างน้อยมันก็ยังถูกกว่า IELTS 200-300 บาท ขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท ณ เวลานั้น… ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องราคาข้อสอบแต่ละอันไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเราขนาดนั้น (แต่สอบหลายๆครั้งมันก็เสียดายเนอะ) แต่เหตุผลในเรื่องของราคานี่คือคิดแบบปลอบใจตัวเอง และเป็นข้ออ้างในการที่ตัวเองเลือกสอบ PTE ด้วย

ใบเสร็จจากการสมัครสอบครั้งแรก ตอนนั้นค่าสมัครสอบอยู่ที่ 180 USD

ส่วนเรื่องเกณฑ์การให้คะแนน หลังจากพิจารณาแบบ(ไม่ค่อย)ถี่ถ้วน คือเหตุผลมันมาตั้งแต่ข้อข้างบนแล้ว อารมณ์มันมาเต็ม ความตั้งใจมีเต็มร้อย และได้แรงฮึดมาจากเว็บบอร์ดของพวก Expat ว่ามันง่ายกว่า IELTS และ TOEFL อีก โดยเฉพาะพาร์ท writing ที่เป็นจุดอ่อนของเรา มันต้องถูกกำจัด! (จะว่ากำจัดก็ไม่เชิง เอามันไปซ่อนไว้ก่อน พอจะใช้จริงจังก็ค่อยว่ากันอีกที ถือให้เป็นเรื่องของอนาคตไป)

เรื่องสถานที่สอบหรือการเดินทางก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่หรือหนึ่งในเหตุผลของเรา เพราะสถานที่สอบส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรที่มีทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดินและบนดิน และมอเตอร์ไซด์รับจ้างสำหรับผู้ที่ไม่อยากเดินและผู้ที่จะเข้าสอบเกือบไม่ทันให้ใช้บริการ เราเองก็นั่งรถไฟฟ้าไปสอบตลอด นั่งจากชานเมืองเข้าไปถึงจะใช้เวลานานหน่อย แต่ก็นั่งชมวิว แอบมองผู้โดยสารท่านอื่นๆบ้าง ฟังเพลงบ้าง ภาวนาให้สอบให้ได้บ้าง ศูนย์สอบก็อยู่ตึกเดียวกับที่สอบ TOEIC เพียงแค่อย่าไปผิดชั้นเท่านั้นเอง

สำหรับย่อหน้าสุดท้าย เราหวังว่าข้อมูลข้อคิดเห็นของเราจะช่วยให้คุณผู้อ่านเอาไปประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมเพื่อที่จะเลือกสอบทักษะทางภาษาอังกฤษให้เหมาะกับตนเอง ใครจะไปรู้…ในอนาคตเราอาจจะได้มานั่งรีวิวการสอบ TOEFL อีกก็เป็นได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *