ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : –
ชื่อภาษาไทย : เขียนด้วยใคงไม่พอ
เขียน : ศุ บุญเลี้ยง
แปล : –
สำนักพิมพ์ : บริษัท กะทิ กะลา จำกัด
จำนวนหน้า : 120 หน้า
ISBN : –
ภาษา : ไทย
ราคาปก : 200 บาท
บทความนี้จะเป็นเรื่องราวที่มาของหนังสือเขียนด้วยใจคงไม่พอซึ่งอ่านแล้อาจจะดูเวิ่นเว้อไปสักนิด แต่เป็นหนังสือที่เราได้มาในวันที่เราที่มีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น และหนังสือเล่มนี้จุดประกายให้เราได้หวนกลับมาหาเวลาว่างอ่านหนังสืออีกครั้ง ทำให้เราพบว่าการได้อยู่คนเดียวเงียบๆอ่านหนังสือเป็นความสุขที่เราสร้างได้ด้วยตัวเราเอง…
ที่มาของ ‘เขียนด้วยใจคงไม่พอ’
พอได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่เมื่อเช้าวันที่ 3 มีนาคม 2564 ว่าคุณตาจากพวกเราไปแล้ว ใจเรามันก็แป้วแบบบอกไม่ถูก ใจนึงก็โล่งที่ทราบว่าแกไปแบบสบาย แต่อีกใจนึงมันก็หวิวเมื่อรู้ว่าคนที่เราโทรหาทุกคืน เวลา 20.30น. ไม่เคยเว้นเกือบ 10 ปีเพราะกลัวท่านเหงาที่ต้องอยู่คนเดียว ท่านไม่อยู่ตรงนั้นเสียแล้ว… หรือที่เขาบอกว่า ‘มีพบ ก็ต้องมีจาก’ สัจธรรมของชีวิตที่ไม่อาจหนีพ้น
ร่างของคุณตานอนนิ่งเหมือนแค่หลับไปเท่านั้น ทุกคนตัดสินใจที่จะไว้ร่างของคุณตาก่อนเผาเป็นเวลา 5 คืน แขกเหรื่อมาร่วมงานแน่นขนัด ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยร่วมงานกันคุณตา, คนบ้านใกล้เรือนเคียง, คนที่เคยหยอกเย้ากันในตลาด, เพื่อนสนิททั้งคุณตาและคุณยาย รวมถึงบรรดาญาติๆที่ถึงแม้จะอยู่ไกลแค่ไหนก็ยังนั่งรถกันมางานเพื่อนแสดงความไว้อาลัยโดยมีลูกสาว ไม่ก็ลูกชายเป็นสารถีขับรถให้ ซึ้งใจมากจริงๆ
ทุกคนในครอบครัวต่างก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ ทั้งต้องดูแลแขกที่มาร่วมงาน วิ่งเสิร์ฟอาหารในคืนที่เด็กเสิร์ฟมาไม่พอ จัดแจงทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง ภายใต้ความเศร้าที่ต่างคนต่างต้องต้องเก็บไว้ข้างใน ส่วนตัวนั้นไม่ได้มีโอกาสรู้จักผู้ใหญ่หลายๆท่าน ก็ทำหน้าที่เฝ้าซองทำบุญที่ได้จากท่านผู้ใหญ่ทั้งหลาย และเป็นตากล้องที่ไม่มีกล้องดีๆกับเขาใช้ ก็ใช้ Samsung Note 5 เอาเนี่ยแหล่ะ ใช้โหมดอัตโนมัติตลอดงาน อยากให้มีสีสันหน่อยก็ปรับไปอีกโหมด ส่วนเรื่องปรับแสง ปรับโฟกัส หรือกำหนดค่าอะไรอื่นๆนั้น ทำไม่เป็นจริงๆ แต่สิ่งที่เห็นมาตลอดทุกคืนโดยไม่จำเป็นต้องผ่านเลนส์กล้องคือผู้คนที่รักคุณตานั้นมาร่วมงานแน่นขนัดทุกคืน จนต้องเพิ่มเต้นท์อีก 2 เต้นท์
นอกจากนี้ เราเองได้อาสากล่าวคำไว้อาลัยในวันปลงศพ ถึงไม่เคยทำแต่ใจเรายินดีอย่างยิ่งที่จะรับหน้าที่นี้ เรานี่แหล่ะหลานคนโปรดที่สุดคนคุณตาคุณยาย ใครๆเขาก็รู้กันมาโดยตลอด…
แรกเริ่มร่างคำไว้อาลัยโดยการร่างเป็นข้อๆ ชื่อ,อาชีพ,การศึกษา,ครอบครัว ฯลฯ ทุกอย่างออกมาดูเป็นทางการและทำเสร็จภายในระยะเวลาไม่ถึงชั่วโมง โดยดูแบบอย่างตามอินเตอร์เน็ต จากนั้นได้ส่งให้คุณน้าเพราะคุณน้าบอกมาว่าจะมีมือดีมาช่วยเกลาให้ คุณน้า ศุ บุญเลี้ยง เพื่อนสนิทมาตั้งแต่เรียนสมัยภปร.ด้วยกับกับน้าเรา
น้าศุมางานก่อนวันปลง 1 วัน เห็นมาตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ นั่งกินข้างกับน้าของเรา พอถึงช่วงกลางคืนถึงได้โดนเรียกไปคุยด้วย บรรยากาศอาจไม่เหมือนพบคนดังคนอื่นๆเพราะนั่งคุยกันในศาลาหน้าโลงที่คุณตานอนอยู่ข้างใน จะไปลืมบรรยากาศการพบคนดังครั้งนี้เลยทีเดียว…
น้าศุดูเป็นผู้ชายเรียบร้อย ใจเย็น กันเองอย่างยิ่ง และคงมากไปด้วยประสบการณ์งานเขียนเพราะแกมองปราดเดียวก็ถามเราว่า คำไว้อาลัยนี้เขียนมาเหมือนจากการร่างอะไรมาเป็นข้อๆ น่าศุเสนอการเขียนคำไว้อาลัยแบบเป็นเรื่องราว เปิดเรื่องมาโดยการเล่นกับพ.ศ.เกิดของคุณตา อย่างนี้สิ่นะ นักเขียนที่ผ่านทั้งงานเพลง งานเขียนคอลัมน์ ถึงมีมุมมองที่สร้างสรรค์กว่าเราๆ เขาจึงมองเห็นหลายมุมและรู้ว่าจะประกอบสิ่งที่มีอยู่ให้น่าสนใจได้อย่างไร
สุดท้าย น้าศุ ให้การบ้านมา โดยมีกระดาษลายมือของน้าที่ร่างมาด้วยตัวอักษรจากปากกาสีน้ำตาล นอกจากจะรู้สึกดี้ด้าที่ได้กระทบไหลคนดังแล้ว ส่วนหนึ่งก็รู้สึกขอบคุณตัวเองที่ตั้งใจฟังน้าศุบรีฟงานให้ฟัง เพราะอะไรน่ะหรือ? ใครว่าลายมือคุณหมอทั้งหลายอ่านยากแล้ว ลายมือน้าศุก็คงไม่แพ้กัน หากไม่ได้ตั้งใจฟังตั้งแต่แรก อย่าหวังเรื่องการแกะลายมือเลย หากหากระดาษแผ่นนั้นได้จะถ่ายมาให้ทุกท่านได้ดู
สารภาพว่าพอกลับถึงบ้าน ก็ไม่ได้ทำการบ้านนั้น เพราะต้องเตรียมตัวสำหรับวันปลงศพที่จะมาเยือนในวันรุ่งขึ้น คาดการณ์ไว้ว่าแขกผู้มีเกียรติต้องมาเยอะแน่ๆ เจ้าภาพที่ดีต้องไปรอแขกเสมอ การบ้านของน้าศุจึงถูกปั่นเมื่อมาถึงงาน ขออนุญาตนั่งที่ท่านประธาน กางสมุดออก จรดปลายปากกาตราม้ายี่ห้อโปรด และเริ่มเขียน ส่วนตัวพยายามผสานสิ่งที่เป็นทางการและกาารเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่น้าศุแนะนำ ทุกอย่างเสร็จภายใน 30 นาที ลองอ่านงานซ้ำอีกที รู้สึกว่าทำไมมันไม่ต่างกับชิ้นแแรกเสียเลย ส่วนที่ต่างจริงๆ ก็คงเป็นแค่ตอนเปิดเรื่อง พ.ศ.2475 นั่นแหละ ต้องขออภัยงานร้อนๆของหลานคนนี้ด้วย
ช่วง 10 โมง ก็โดนเรียกตัวไปหาน้าศุ ผู้ซึ่งนั่งเงียบๆอยู่โต๊ะเกือบด้านนอกสุด อยูในกลุ่มเพื่อนราชวิทย์ของเขา น้าศุไม่เพียงแค่เกลางานของเราเท่านั้น แต่แกเขียนให้ใหม่หมดจด และให้เราลองอ่านพร้อมทั้งเสนอข้อคิดเห็น เราเลยเสนอแก้คำผิดนิดๆหน่อยๆ แต่ส่วนที่ขอให้ตัดออกคือสาเหตุในการเสียชีวิตเพราะเกรงว่าจะไม่สวยงามเมื่อกล่าวถึงส่วนนั้น น้าศุเป็นผู้ฟังที่ดีมากและพร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ยอมตัดทั้งย่อหน้าออก
สักพักน้าก็ถามว่า “เราชื่อนี้ใช่ไหม?” จากนั้นก็เขียนอะไรขยุกขยิก แล้วจึงส่งหนังสือหน้าปกสีเขียว มีเขาวงกตรูปหัวใจอยู่ตรงกลาง ชื่อหนังสือว่าเขียนด้วยใจคงไม่พอ เราได้แต่สงสัยว่ามันเป็นหนังสือแนวความรักหรือกล่าวนะ?
ท้ายสุดแล้วงานเขียนคำไว้อาลัยก็เสร็จสมบูรณ์ (เขียนและร่างโดยน้าศุกร์ บุญเลี้ยง 95% และข้อมูลของคุณตาจากกระดาษของเราอีก 5% หรือน้าศุ 98% เรา 2%) คำไว้อาลัยถูกเล่าเป็นเรื่องราวผ่านหลานรักของคุณตาคนนี้บนเวทีที่เรียกว่าเมรุอยู่ด้านหลัง ไม่รู้ว่าเครื่องเสียงมันเบาไปแล้วเราเป็นคนเสียงค่อย หรือทิศทางของลมมันพัดเสียงของเราไป จึงทำให้เสียงเบากว่าปกติ ที่รู้ตัวเพราะระหว่างกล่าวคำไว้อาลัย ได้เงยหน้ามองแขกเหรื่อเป็นระยะๆ มีคุณยายทานนึงพยายามบอกใบ้ให้เรารู้ทุกครั้งถึงเรื่องเสียง ท่าทางของท่านชัดเขนแค่ไหน? เอาเป็นว่ามองระยะไกลพอควรยังเห็นท่านท่ามกลางแขกเกือบร้อยคนที่ใส่ชุดสีดำเหมือนกันหมด ต้องขอบคุณท่านจริงๆที่ทำให้เรารู้ตัวและแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
ขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งของคุณตาคุณยายผู้ล่วงลับไปแล้วก็ดี ทั้งของลุงป้าน้าอาก็ดี ขอบคุณผู้ประสานทุกท่านที่ทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง ขอบคุณน้าศุ บุญเลี้ยงสำหรับงานเขียนชิ้นสำคัญที่สุดของงาน และที่ขาดไม่ได้เลยคือครอบครัวที่ถึงแม้จะกระทบกระทั่งกันบ้างตามประสา แต่ก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อความโศกเศร้ามาเยือน
คำไว้อาลัยช่างรื่นหูและแปลกใหม่ แต่สาระสำคัญนั้นหาได้จางหายไปไหนไม่ และคุณตาจะอยู่ในใจของลูกหลานทุกคน…