ขั้นตอนเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสอบ PTE จะใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางแทบทุกหมด ยกเว้นเสียตอนที่เราไปถึงสถานที่สอบแล้วต้องลงทะเบียนไปจนถึงก่อนเข้าห้องสอบ และเวลาขอเข้าห้องน้ำ (ถ้าหากจะเข้าห้องน้ำแล้วยังต้องกรอกข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ คงต้องยกมือให้กับระบบ AI ของเขาแล้วล่ะ ฮา) จุดนี้เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอยู่ แต่การเลือกวันสอบ เลือกสนามสอบ เลือกเวลาสอบให้ตรงกับความต้องการของเราที่สุด เราต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ไม่มีการโทรศัพท์ไปที่ศูนย์เพื่อจองวันหรือยกเลิกการสอบ ไม่มีการไปรับคะแนนจากศูนย์สอบหรือที่ใดๆ ทุกอย่างของ PTE จะทำโดยเข้าเครื่องจักรสมองกลหรือคอมพิวเตอร์ที่เด็กยุคนี้รู้จักกันมาตั้งแต่เกิด
นั่นจึงหมายถึงคะแนนสอบ PTE ของคุณจะถูกส่งถึงมือคุณผ่านคอมพิวเตอร์นั่นเอง
ไม่ใช่เจ้าคอมพิวเตอร์จะมี 4 ขาแล้วเดินเตาะแตะ จากนั้นยื่นแขนป้อมๆของเขา ในมือมีซองใส่คะแนน PTE ของคุณอยู่ โอ้ว! ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ออกจะขนลุกไปหน่อย – แหม่! คิดไปได้เนอะคนเรา ที่กล่าวไว้ด้านบนนั่นหมายถึงคุณจะเข้าไปดูผลสอบของคุณได้โดยการ Log in เข้าไปในระบบที่คุณได้สร้างบัญชีไว้ตั้งแต่ตอนที่สมัครสอบต่างหาก
เอาล่ะ หากใครอยากทราบว่า PTE Academic Score report หน้าตาเป็นอย่างไร คุณมาถูกที่แล้วค่ะ เพราะในบทความนี้myPTEjourney จะเป็นการเอา Score report ของตัวเองมาอธิบายให้ทุกท่านได้เห็นของจริง จะได้เข้าใจและเห็นว่ามันมีหน้าตาอย่างไร และแต่ละส่วนบอกอะไรบ้าง ทุกท่านจะได้ Score report ที่มีหน้าตาเหมือนกับของเราไม่มีผิดเพี้ยน อ้อ! ยกเว้นคะแนนที่ได้คงไม่เหมือนกันเท่าไหร่ เพราะเราเชื่อว่าคุณต้องได้คะแนนมากกว่าเราแน่นอน
หลังจากที่เรา Log in เข้าระบบ จากนั้นไปที่ My Activity เราก็สามารถเลือกได้เลยว่าอยากจะดูคะแนนสอบครั้งไหนบ้าง ทาง myPTEjourney จะใช้ผลสอบครั้งล่าสุดสำหรับบทความนี้ โดยจะใช้ผลคะแนนที่แสดงอยู่บนระบบเลย แต่เมื่อเข้าไปแล้ว หลายคนที่มีหนังสือเล่มเขียว PTE ACADEMIC. Pearson Test of English Academic. คงสงสัยว่าทำไมหน้าตาผลคะแนนไม่เหมือนกับที่เห็นในหนังสือเลย อันนี้เราเข้าใจว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทาง Pearson ปรับปรุงระบบยกเครื่องใหม่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 ช่วงนี้เราได้รับอีเมล์จากทาง Pearson ว่า เค้าจะพัฒนาเพื่อสร้างประสบการณ์ให้เราเพลิดเพลินกับระบบของเค้าในรูปแบบใหม่ ทั้งการจองการสอบ ระบบการจัดการต่างๆ และการติดตามผลสอบของคุณ และได้แจ้งช่วงวันและเวลาที่เว็บไซต์ pearsonpte.com จะเข้าใช้งานไม่ได้ หลังจากนั้นเค้าจะให้เราตั้งชื่อล็อคอินกับรหัสผ่านใหม่เมื่อระบบของ Pearson ได้ถูกปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ณ เวลานั้นเราไม่ได้สนใจเท่าไหร่เพราะได้คะแนนตามที่เราหวังไว้แล้ว จึงไม่ได้ save ใบคะแนนแบบเก่าเอาไว้ เราจึงขอรีวิวผลคะแนนรูปแบบใหม่ไฉไลกว่าเดิมแทนนะคะ
ส่วนที่ 1
เปรียบเหมือนส่วนหัวของรายงาน เป็นการบอกว่ารายงานที่ถืออยู่นี้เป็นของ PTE ประเภทไหน และเลขลำดับของรายงานผลคะแนน
PTE Academic Score Report | ประเภทของการสอบ PTE ซึ่งในที่นี้คือ PTE Academic และบอกถึงประเภทแบบฟอร์มว่าเป็น Score Report |
Score Report Code | คือหมายเลขผลรายงานคะแนนสอบ มีทั้งหมด 10 หลัก รวมตัวอักษรในภาษาอังกฤษตัวเล็ก ตัวใหญ่ และตัวเลขอารบิก |
ส่วนที่ 2 : Scores Overview
รูปถ่าย | เมื่อไปถึงศูนย์สอบ ทางเจ้าหน้าที่จะถ่ายรูปของเราด้วยกล้องเว็บแคม รูปนี้จะปรากฏใน Score Report |
Test Taker ID | เลขประจำตัวของผู้เข้าสอบแต่ละคน เลขนี้จะไม่มีการเปลี่ยนไปตามการสอบแต่ละครั้ง มันคือเลขประจำตัวของเราตั้งแต่ที่เราลงทะเบียนกับ Pearson ตั้งแต่ครั้งแรก เปรียบเสมือนกับบัตรประจำตัวประชาชนของเราในโลกของการสอบ PTE |
Registration ID | เลขที่เราได้จากการลงทะเบียนเมื่อไปถึงที่ศูนย์สอบสำหรับการสอบในแต่ละครั้ง |
Overall score | คะแนนรวมทั้งหมดจากการสอบ |
Test Center Country | ประเทศศูนย์สอบที่เราได้เลือก |
Test Centre ID | รหัสประจำศูนย์สอบนั้นๆ |
Test Centre | ชื่อศูนย์สอบที่เราได้เลือก |
Test Date | วันที่สอบ |
Valid Until | ผลสอบสามารถใช้ได้ถึงวันที่ |
Report issue date | วันที่ผลสอบออก |
ส่วนที่ 3 : Communicative Skills
เป็นการบอกคะแนนแต่ละพาร์ทว่าได้คะแนนเท่าไหร่ คะแนนมาจากการประเมินทักษะทางภาษาอังกฤษที่มาจากการประเมินแยกเดี่ยว เช่น ในส่วนของ Write essay ที่วัดทักษะการเขียนอย่างเดียว หรือประเมินร่วมกับทักษะอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความก่อนว่าการสอบวัดระดับทางภาษาอังกฤษของ Pearson ไม่ได้เป็นการให้คะแนนแต่ละทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งในการสอบแต่ละพาร์ท แต่ข้อสอบแต่ละส่วนนั้นจะเป็นการรวมทักษะเข้าไว้ด้วยกัน มีคะแนนเต็มในแต่ละพาร์ทที่ 90
Listening | ทักษะด้านการฟัง | คะแนนเต็ม 90 |
Reading | ทักษะด้านการอ่าน | คะแนนเต็ม 90 |
Speaking | ทักษะด้านการพูด | คะแนนเต็ม 90 |
Writing | ทักษะด้านการเขียน | คะแนนเต็ม 90 |
ส่วนที่ 4 : Skills Breakdown
ส่วนนี้ขอพูดถึง Enabling skills เพราะทักษะฟัง พูด อ่าน เขียนหลักๆได้อธิบายไว้ด้านบนแล้ว
Enabling skills คือทักษะย่อยที่แสดงให้เราตระหนักถึงส่วนที่เราควรต้องปรับปรุง ตรงไหนคือจุดแข็งจุดอ่อน หากสังเกตจะพบว่าคะแนน Writing ของ myPTEjourney น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคะแนนทักษะด้านอื่นหากเทียบกับ 3 พาร์ทที่เหลือ หากเรามาพิจารณาตรง Enabling skills จะเห็นว่า Written discourse (ทักษะด้านการเขียนประโยคให้สละสลวย เช่นการเป็นเหตุเป็นผล การเชื่อมประโยคเป็นต้น) ได้คะแนน 89 จากคะแนนเต็ม 90 แต่จะเห็นว่า Grammar เราได้แค่ 60 เท่านั้นเอง แล้วไหนจะคะแนนในเรื่อง Vocabulary ที่ได้คะแนนอยู่ที่ 76 ซึ่งถ้าหากเราอยากจะทำให้คะแนนรวมของ Writing ดีขึ้น เราต้องพัฒนาเรื่อง Grammar ให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น และ Vocabulary ที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิม
Enabling skills มีคะแนนเต็มในแต่ละพาร์ทที่ 90 โดยขออธิบายแต่ละข้อไว้ตามด้านล่างนี้
Grammar | การใช้ภาษาอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการสร้างคำและลำดับคำ (การใช้ไวยกรณ์อย่างถูกต้อง) | คะแนนเต็ม 90 |
Oral Fluency | ฟังแล้วลื่นไหล ไม่พยายามมากจนเกินไป เป็นธรรมชาติ | คะแนนเต็ม 90 |
Pronunciation | เป็นการออกเสียงที่ผู้พูดภาษาส่วนใหญ่เข้าใจได้ ไม่ว่าคุณจะมีสำเนียงแบบไหน | คะแนนเต็ม 90 |
Spelling | สะกดคำได้ถูกต้อง แต่หากมีการเลือกสะกดคำแบบใดๆแบบหนึ่งก็ควรจะใช้แบบนั้นทั้งหมดในช่วงการสอบ (เช่นหากจะเลือกสะกดแบบภาษาอังกฤษ Centre ก็ควรจะใช้แบบนี้ไปตลอด ไม่ควรเปลี่ยนไปมาเป็น Center ที่เป็นแบบอเมริกัน) | คะแนนเต็ม 90 |
Vocabulary | มีการใช้คำศัพท์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ | คะแนนเต็ม 90 |
Written discourse | วาทกรรมทางการเขียน ที่พิจารณาโดยโครงสร้างของประโยค ความเชื่อมโยง การเป็นเหตุเป็นผล การใช้ระดับภาษาที่หลากหลายเพื่อบรรยายความหมายได้อย่างถูกต้อง | คะแนนเต็ม 90 |
ส่วนที่ 5 : Candidate Information ข้อมูลผู้เข้าสอบ
ข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าสอบจะอยู่ในส่วนนี้
Date of Birth | วัน เดือน ปีเกิด |
Country of Citizenship | เป็นพลเมืองของประเทศใด |
Country of Residence | สถานที่ที่ผู้เข้าสอบพำนัก |
Female | เพศ (ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับเพศของผู้สมัครสอบท่านนั้นๆ) |
อีเมล์ (ตรงนี้ควรใช้เมล์หลักของตัวเอง เพราะเวลามีข่าวสารของ PTE แจ้งคะแนนสอบ หรือยกเลิกการสอบ ทาง Pearson จะส่งข่าวสารมาทางอีเมล์ที่เราให้ไว้) | |
First-time Test Taker | นี่เป็นการสอบครั้งแรกหรือไม่ |