เรื่องการพูดถือว่าเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของใครหลายๆคน ไม่อย่างนั้นคงไม่มีชมรมการพูดผุดขึ้นมากมายตามรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อฝึกฝนนักศึกษาหรือบุคลากรของตนให้เป็นบุคคลากรที่มีวาทศิลป์ หนังสือพูดให้ดีพูดให้เป็นพูดให้เก่งมีวางตามแผงร้านหนังสือทั่วไป โดยหนึ่งในวิธีพัฒนาการพูดที่เป็นที่พูดถึงกันอยู่เสมอคือการพูดหน้ากระจก ดูท่าทางมือไม้ของเราขณะที่ตนกำลังพูดว่ามันเหมาะสมไหม น้ำเสียงเข้ากันกับเรื่องที่พูดหรือเปล่า หากมีเวลามากขึ้นหน่อยก็อัดวิดีโอเพื่อได้พิจารณาภาพสะท้อนตัวเองมากขึ้น เพราะการพูดคือสิ่งสำคัญที่จะเอาชนะใจคนฟังได้
แต่การสอบ PTE ไม่ได้พูดให้คนตัวเป็นๆฟัง เราต้องพูดให้ระบบคอมพิวเตอร์ฟังต่างหาก อัลกอรึทึ่มหรือซอฟแวร์ใดๆที่ใช้ในการตรวจคะแนนก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เป็นวงกว้าง หนึ่งในทฤษฎีที่เป็นไปได้มากที่สุดคือทางผู้ออกข้อสอบมีซอฟแวร์ในการตรวจจับคำพูดของเราว่าสอดคล้องกับต้นฉบับของเขามากแค่ไหน โดยซอฟแวร์นี้อาจจะจับกับจังหวะจะโคนในการพูด เสียงต่ำเสียงสูง การออกเสียงให้ใกล้เคียงกับตัวอย่างที่ทางผู้ออกข้อสอบเก็บตัวอย่างเสียงมาจากแต่ละประเทศอะไรพวกนี้มากแค่ไหน ซึ่งเราก็มานั่งคิดนอนคิดดูอยู่ว่ามันก็อาจจะมีโอกาสเป็นไปได้
ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าเขามีวิธีตรวจอย่างไร แต่ความไม่รู้ก็ไม่สามารถทำให้มนุษย์อยู่นิ่งๆโดยไม่ขวนขวายหาวิธีพัฒนาตัวเอง จึงมีผู้คิดค้นไอเดียว่าหากการสอบ PTE ใช้ซอฟแวร์ในการตรวจจับคำพูดของเรา โปรแกรมพิมพ์ด้วยเสียงก็น่าจะพอเอามาแทนกันได้ ถ้าหากเราออกเสียงได้ถูกต้องชัดเจน สิ่งที่เราพูดออกไปก็จะฟ้องอยู่บนโปรแกรมพิมพ์ด้วยเสียงนั่นเอง โดยเราไม่ต้องควักกระเป๋าเสียเงินซื้อเลย เพราะเราจะใช้โปรแกรมพิมพ์ด้วยเสียง (speech-to-text) ของ Google Doc และ Microsoft word ค่ะ
หากอ่านมาถึงตรงนี้ ทางเราอยากขอขอบคุณผู้ร่วมคิดค้นและพัฒนาโปรแกรมนี้ ผู้ที่อนุมัติโครงการ และผู้สนับสนุนงบประมาณ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำให้โปรแกรมออกคำสั่งด้วยเสียงสำเร็จลุล่วงออกมาให้คนอย่างเราได้ใช้แบบฟรีๆ ขอบคุณคนที่ผุดไอเดียนี้ขึ้นมา ที่นอกจากจะได้นำมาพัฒนาตัวเองในเรื่องภาษา ยังช่วยลดเวลาในการพิมพ์งานได้อีก หากพิมพ์ผิดก็มานั่งแก้นิดๆหน่อยๆ ถือว่าช่วยย่นระยะเวลาในการพิมพ์ไปได้มากโขmyPTEjourney จึงอยากจะขอสาธิตวิธีการใช้งาน ให้ทุกคนได้ลองเพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาการพูดของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เราพยายามหาข้อความที่มีความใกล้เคียงกับ text ที่จะเจอใน Read aloud ตามที่แสดงไว้ให้ดูด้านล่าง และอย่าลืมว่า พยายามหลีกเลี่ยงการพูดเอิ่ม…อ่า…เอ่อ…อืม หากจะให้ดีอย่าพูดคำพวกนี้ออกมา และหากเราพูดผิดอย่ากลับไปแก้ใหม่ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะหลุดจากสมาธิได้ ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสผิดพลาดในการอ่านเนื้อหามากขึ้นไปอีก รวมถึงโปรแกรมของ Pearson จะรู้ทันทีว่ามีการพูดผิดเกิดขึ้น หากใครอยากทบทวนว่าสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำใน Read aloud มีอะไรบ้างก็ตามไปที่ Read Aloud อ่านออกเสียงจากบทความที่ให้ ได้เลยค่ะ
<ตัวอย่างข้อความ>
Market research is a vital element when developing your marketing strategy. When done correctly it can help to enlighten your marketing activities – such as understanding the requirements of your target audience, helping to understand what key messages you should convey and how to convey them.
ด่านล่างนี้จะแสดงให้เห็นการใช้โปรแกรมเสียงระหว่าง Google Doc กับ Microsoft word ว่ามันต่างกันอย่างไร โดยเราจะพยายามพูดทุกอย่างให้เหมือนเดิมกันทั้ง 2 ครั้ง ที่บอกว่าพยายามพูดให้เหมือนเดิมเพราะว่าการพูด 2 ครั้งอาจจะมีอะไรผิดเพี้ยนไปบ้าง เช่น จังหวะลมหายใจ การแบ่งวรรคตอนอาจจะสั้นยาวไม่เท่ากัน หรือว่าเสียงอาจจะดังน้อยกว่า ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เหมือนกันก็เป็นได้ คือเราพยายามจะทำให้ทุกอย่างเหมือนกันหมดโดยการอัดเสียงแล้วเปิดใส่ทั้ง 2 โปรแกรมนี้บน iPad แต่มันไม่กระดิกเลย เลยจำเป็นจะต้องพูดอย่างละครั้งต่อ 1 โปรแกรม นอกจากนี้อาจจะโดนคุณผู้อ่านตำหนิในใจว่ายังไม่มีเสียงให้ฟังอีก ต้องขอโทษมา ณ ทีนี้ด้วยเนื่องจากไม่มีไม้ตั้งในการอัดหน้าจอ เราลองเอามือถือไปแปะกับขาโคมไฟแล้ว ติดทั้งกาวสองหน้าและตามด้วยสก็อตเทปก็ยังไม่อยู่ ถ่ายๆไปกล้องก็เริ่มต่ำลงๆ เลยจำเป็นต้องอัดจากหน้าจอ iPad แต่พออัดจากหน้าจอ iPad แล้วต้องใช้โปรแกรมพิมพ์ด้วยเสียง มันก็จะตัดเสียงของเราออก จึงมีที่มาเป็นเช่นนี้นะคะท่านผู้อ่าน หากได้ขาตั้งมาแล้ว myPTEjourney ยินดีที่จะอัดวิดีโอพร้อมเสียงเจื้อยแจ้วให้ฟัง เพื่อที่ผู้อ่านจะได้เข้าใจหลักการใช้งานและได้เห็นว่ามันมีความต่างกันอย่างไร
Text Voice – Google Doc
Text Voice – Microsoft Word
จะเห็นว่าทั้ง 2 โปรแกรมทำงานได้ดีตามสไตล์ของตัวเอง และจะเห็นว่าจุดที่ไม่เหมือนใน text ก็เป็นที่เดียวกันตรงคำที่เป็นสีฟ้าที่ต้นฉบับเป็นคำว่า it แต่เมื่อเราอ่านออกเสียงทั้งบทความ โปรแกรมจับเสียงเป็นคำว่า he เสียนี่ เราลองเขียนออกมาเป็นพารากราฟด้านล่างเพื่อให้ทุกคนเห็นชัดๆว่าเป็นคำไหนที่ไม่เหมือนกับบทความต้นฉบับ
Market research is a vital element when developing your marketing strategy. When done correctly it -> he can help to enlighten your marketing activities – such as understanding the requirements of your target audience, helping to understand what key messages you should convey and how to convey them.
ตรงนี้เราตั้งข้อสันนิษฐานบวกกับที่เราสังเกตการอ่านออกเสียงของเราจากบทความนี้นอกรอบ เราพบว่าเราออกเสียงคำว่า it ค่อนข้างสั้นและเร็ว โปรแกรมจึงอาจจะจำเสียงให้ออกมาเป็นคำอื่น คือคำว่า he แต่พอเราลองอ่านออกเสียงคำว่า it ให้ชัดๆ เจ้าโปรแกรมทั้ง 2 ก็สามารถพิมพ์คำว่า it ออกมาได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการอ่านออกเสียงให้โปรแกรมทั้ง 2 ฟัง จะมีผลลัพธ์ที่เหมือนกันเป๊ะๆแบบ 100% ไปเสียทุกครั้ง ในที่นี้เราหมายความว่า Google Doc อาจแสดงผลคำว่า enlighten เป็น lighting ส่วน Microsoft อาจจะผิดจาก enlighten แต่เป็นคำอื่นเช่น lighten แทนก็ได้ หรืออาจจะไม่ผิดเลยก็เป็นได้ ในทางกลับกัน Microsoft word เองอาจจะมีผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับบทความต้องฉบับน้อยกว่าหรือมากกว่า Google Doc ก็เป็นได้เช่นกัน และถ้าหากมีคำผิดก็อาจจะเป็นคนละที่กับ Google Doc ก็ได้ หรือโปรแกรมนี้อาจจะผิดจากบทความต้นแบบตรงคำที่ 10 อีกโปรแกรมหนึ่งอาจจะผิดตรงตำแหน่งที่ 12 หากจะสรุปแบบง่ายๆ คือเรามองว่าโปรแกรมทั้ง 2 มีความสามารถพอกัน ไม่มีใครดีที่สุด 100% และไม่มีใครยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
เพราะฉะนั้นหากถามว่าควรใช้โปรแกรมไหนดี? myPTEjourney ก็จะตอบว่า ‘แล้วแต่คุณสะดวก’ เลยค่ะ โดยส่วนตัวเราชอบ Google Doc มากกว่าเพราะรู้สึกว่ารูปแบบของเขาสะอาดตาดี และเวลาตัวอักษรวิ่งมันวิ่งช้ากว่า (ถึงแม้เวลาพูดจริงจะไม่ได้มอง text ที่ออกมาเลยก็ตาม จะมาดูทีเดียวก็ตอนอ่านออกเสียงจบแล้วนั่นแหล่ะ ยังไงสายตามันสลับไปมาไม่ทันอยู่แล้ว)
มันช่วยพัฒนาการอ่านออกเสียงของเราอย่างไร?
อ้างอิงจากบทความที่แปะไว้ให้ มันทำให้เรารู้ว่าการอ่านออกเสียงคำที่มีเสียงสั้นอยู่แล้ว หากเราพูดเร็วเข้าไปด้วย ก็มีโอกาสทำให้โปรแกรมหรืออัลกอริทึ่มภายในโปรแกรมใดก็ตามแต่ไม่สามารถจับเสียงเราได้ชัดเจนหรือไม่ดีพอ ในกรณีนี้คือคำว่า it ที่โปรแกรมจับเสียงเราเพี้ยนออกมาเป็น he
นอกจากนี้เราลองอ่านบทความดังกล่าวแบบไม่เน้นการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้องมากนัก เราก็เห็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจตรงคำว่า convey คือเราอ่านออกเสียงว่า คอนเฟ ตามหลักที่ถูกต้องก็คือเอาฟันวางที่ริมฝีปากล่าง ให้ลมลอดตรงระหว่างริมฝีปากกับฟัน แต่พอเราออกเสียงตัวว.แหวน แทนที่จะเป็นตัวฟ.ฟัน โปรแกรมพิมพ์ออกมาว่า conway แทน และนี่ล่ะคือบทเรียนที่ทำให้เราทราบว่าการออกเสียงที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร และหากอ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง ผลที่ออกมาในรูปแบบไหน
อ่านชัดสุดๆแล้วแต่โปรแกรมก็ยังพิมพ์ออกมาผิดเหมือนเดิม?!?
จะบอกว่าไม่ต้องแปลกใจไปค่ะ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับเราเช่นกัน สมมุติคำว่า dictionary ออกเสียงกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง พยายามปรับเสียงสูงเสียงต่ำ เน้นแล้วเน้นอีกก็ดันพิมพ์ออกมาเป็น missionary เฉย ทำยังไงดี? เราเองพอเจอว่ามันก็มีแบบนี้ด้วย ก็ไม่ต้องเสียเวลากับมันให้มาก ขนาดคนยังฟังผิดฟังเพี้ยนกันได้เลย แล้วนับอะไรกับเจ้าโปรแกรมล่ะ
สิ่งที่คุณจะต้องทำคือพยายามเข้าใจว่าบางทีอัลกิรึทึ่มก็อาจจะมีผิดเพี้ยนไปบ้าง และก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่อไม่ให้เสียเวลากับสิ่งนี้สิ่งเดียวมากเกินไป … ใช่ มันอาจเป็นจุดเล็กๆที่สำคัญ แต่เราก็พิสูจน์ไม่ได้ด้วยตัวเองว่าเพราะอะไรมันถึงยังไม่ตรงกับสิ่งที่เราพูดสักที มันต่างจากการพิสูจน์สูตรอย่างในวิชาเลขหรือฟิสิกส์ที่พอแทนค่าไปเราก็จะรู้คำตอบ แต่ไม่ใช่กับอัลกอรึทึ่มของโปรแกรม (ถ้าเป็นวิศวกรซอฟแวร์ก็ไม่แน่ อาจจะนั่งแงะโค้ดมาดูก็เป็นได้ว่ามันมีหลักการทำงานอย่างไร)หรืออาจจะใช่ แต่เราไม่ควรเสียเวลากับมันมากเกินไป การสอบ PTE ยังมีส่วนที่สำคัญอื่นๆที่ให้คะแนนน้ำหนักมากกว่า คุณอาจจะทำ Tasks อื่นๆเหล่านั้นได้ดีกว่า หากเจอเหตุการณ์แบบนี้คุณเพียงแค่ต้อง move on และให้เวลากับส่วนอื่นที่มีความสำคัญมากกว่า
myPTEjourney ขอให้การใช้โปรแกรมพิมพ์ด้วยเสียงเป็น ‘เครื่องมือพัฒนา’ ไม่ใช่เป็น ‘เครื่องขโมยเวลา’ ในการเตรียมตัวสอบของทุกคนนะคะ