สัมมนาออนไลน์ : บัณฑิตใหม่ ทำงานต่างประเทศอย่างไร ให้รอดและรวย [2]

ระหว่างช่วงพูดคุยอะไรที่เป็นสาระแบบนี้ ทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ก็มีกิจกรรมสนุกๆมาให้เล่น มีการตอบคำถามพร้อมของรางวัล มีหรือคนอย่างเราจะพลาด .ฮา. ใจจริงไม่อยากได้ของรางวัลนะ แต่รู้สึกสนุกเวลาแย่งตอบกับคนอื่น .ฮา.  ยกตัวอย่างคำถามเช่น

1 วีซ่า Work and Holiday สามารถยื่นได้จนถึงอายุกี่ปี
ตอบ : ไม่เกิน 31 ปี หมายความว่า หาก ณ วันที่ยื่นวีซ่านะตอนนั้นคุณอายุ 30 ปีกับอีก 364 วันคุณก็ยังยื่นได้ค่ะ

2 วีซ่าทำงานคือวีซ่าซับคลาสอะไร
ตอบ : ซับคลาส 482

3 คุณจอห์นจบปริญญาสาขาอะไร (ข้อนี้แหล่ะเราชิงตอบเร็วและตอบถูก!)
ตอบ : คุณจอห์นจบมาจากวิชา Computer Science
เรารู้ทริค แทนที่จะพิมพ์เต็มๆ เราพิมพ์ตัวย่อแค่ CS เท่านั้น เราจึงได้ของรางวัลมาไว้ในครอบครอง

4 PR มาจากอะไร
ตอบ : Permanent Resident (ข้อนี้เขียนผิด อาจารย์ที่เป็นวิทยากรไม่ให้รางวัลนะคะ เพราะอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ .ฮา.)

ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่เราพอจะจำได้

มาต่อกันที่เรื่องของวีซ่าเกษตร

ซึ่งส่วนตัวเราเห็นหลายคนในกลุ่ม Line ถามแล้วถามอีกว่ามีหรือยัง? เมื่อไหร่วีซ่าเกษตรจะมาคะ? คะแนนสอบ IELTS เท่าไหร่? มีคนแนะนำจ่ายเงินดำเนินการเรื่องวีซ่าเกษตร 90,000 บาทก็สามารถบินไปได้เลย?!?  
ตรงนี้คุณจอห์นเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ายังขอไม่ได้ และยังไม่มีข้อตกลงค่ะ เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อใครที่บอกว่าไปได้ อ้างมีเส้นสาย มีดีลกับนายจ้างที่นู่นแล้ว เพราะความเป็นจริง มันยังไม่มีประกาศอะไรที่เป็นทางการออกมาเลยจึงเชื่อไม่ได้ค่ะ

อาชีพยอดฮิตเพื่อต่อ PR

มาพูดถึงอาชีพยอดฮิตที่ Education agent หลายคน YouTuber ทั้งหลายชอบพูดถึง บอกว่ารายได้ดีนะ บอกว่าเป็นที่ต้องการสูง ซึ่งก็คือ Aged care นั่นเอง อันนี้ส่วนตัวเรารู้อยู่แล้วว่าอาชีพนี้มันไม่ได้สามารถต่อยอดพีอาร์ได้ หากอยากจะต่อ PR คุณจะต้องไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น อย่างเช่น พยาบาลอันนี้ถึงจะสามารถขอ PR ได้ แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลมาก่อน ซึ่งจริงๆแล้วข้อมูลมีให้คุณศึกษาหมดอยู่บนเว็บไซต์ของ Immigration แต่คุณต้องอ่านเยอะหน่อยแค่นั้นเอง  

ในข้อนี้คุณจอห์นบอกว่า เป็นอาชีพที่ต้องการน่ะใช่ แต่ยังไม่ใช่อาชีพที่ขลาดแคลน เพราะฉะนั้นหากคุณนำอาชีพ Aged care ไปเช็คใน Short or long term occupation list สำหรับจะขอ PR คุณจะพบว่าอาชีพนี้ไม่ได้อยู่ใน list เหล่านั้น จึงหมายความว่าคุณจะขอ PR ด้วยอาชีพ Aged care ไม่ได้ค่ะ

สำหรับใครที่กังวลว่าตัวเองอายุเยอะแล้ว แล้วยังจะไปทำงานได้หรือไม่ คุณจอห์นเน้นว่า อายุไม่มีผลกับวีซ่าการทำงาน ขอเพียงแค่ความรู้ ความสามารถในงานนั้นๆ ที่คุณมี อายุเท่าไหร่เค้าก็จ้างค่ะ สิ่งที่สะกิดใจเราก็คือ คุณจอห์นบอกว่า ที่นั่นไม่มีอายุเกษียณการทำงาน อยากจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งเรามองว่าเป็นอะไรที่ดีมากๆเลย

การทำงาน

ก่อนจะได้ทำงานจริงๆ เราจะต้องสมัครงานกันก่อน หลายคนกังวลในเรื่องเกรด ซึ่งตรงนี้คุณจอห์นแถลงว่าการให้เกรดในประเทศออสเตรเลียไม่ได้เหมือนเมืองไทยที่มีการบอกเป็นตัวเลข มีจุดทศนิยม แต่จะเป็นการบอกผ่านคำนิยาม เช่น  High Distinction, Distinction, Credit, Pass ฯลฯ

โดยปกติเวลาสมัครงานในออสเตรเลีย จะต้องเขียน Cover letter ประมาณ 1 หน้า Resume ไม่ควรเกิน2 หน้า ซึ่ง Resume เนี่ยแหละที่ต่างจากประเทศไทยมาก เนื่องจาก Resume การสมัครงานประเทศออสเตรเลียนอกจากไม่ควรเกิน 2 หน้าแล้ว คุณไม่ควรระบุเนื้อหาบางอย่างลงไป เช่น สถานภาพการสมรส เชื้อชาติ ศาสนา รวมไปถึงการติดรูปตัวเองลงไปในเรซูเม่ ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดอคติในการจ้างงาน หรืออาจทำให้เกิด Discrimination ซึ่งมันขัดกับ EPO : Equal Employment Opportunity มากๆ และกฎหมายเอาผิดเขาก็แรงมากเช่นกัน (ก็อย่างว่าอ่ะเนาะ เค้าถูกจัดอันดับอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว)
หากอยากจะได้งาน คุณจอห์นแนะนำว่าเพียงแค่เราระบุประสบการณ์การทำงานของเราให้ตรงกับเกณฑ์การคัดเลือกของเขา การได้ทำงานในออสเตรเลียไม่ใช่เรื่องยากค่ะ

น่าสนใจไม่เพียงแต่กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่บุคคลทั่วไปอย่างเราๆก็ควรจะรู้ไว้ว่าประเทศออสเตรเลียเน้นคนที่มีทักษะเฉพาะด้าน คือแบบว่าเก่งเฉพาะด้านไปเลย เช่น ถ้าคุณเก่งด้านคอมพิวเตอร์คุณก็ลงลึกให้เป็นด้านๆไปเลย รู้ให้ลึกอย่างด้านความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งคนไทยไปทำงานสาย IT สาย Engineering ค่อนข้างเยอะในออสเตรเลีย และในปัจจุบันสาย Data analysis ก็กำลังมาแรง


อีกด้านหนึ่งที่หลายคนมักจะลืมนึกไป คือหากเราอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียแล้วมีปัญหาทางใจ อย่างสมมุติว่าคุณเป็นนักเรียน แล้วคุณต้องการคำปรึกษาหาทางออก คุณสามารถติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยได้เลยเพราะโดยปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะมีคลินิกสุขภาพจิตให้นักศึกษาเข้าไปปรึกษา หากเป็นบุคคลทั่วไปที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียแล้วมีปัญหาขึ้นมา สามารถติดต่อได้ที่กงสุลไทยค่ะ

ในงานสัมมนาในครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องวีซ่า แต่ยังพูดถึงวัฒนธรรมในประเทศออสเตรเลียอีกด้วย ส่วนตัวจากการที่เราเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศในฐานะนักเรียนแถบยุโรปซึ่งตอนแรกดูเหมือนๆกันไปหมด เมื่อไปอยู่จริงๆเราพบว่า ถึงจะเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ๆกัน แต่ในประเทศเหล่านี้ก็ยังมีความแตกต่าง แล้วจะนับอะไรกับประเทศออสเตรเลียที่ถือเป็นอีกทวีปหนึ่งหล่ะ? ความแตกต่างต้องมีอยู่แล้ว

อาจารย์ที่เป็นวิทยากรถามว่า คุณจอห์นคิดว่าวัฒนธรรมในการทำงานในประเทศออสเตรเลียมีอะไรที่ไม่เหมือนประเทศไทย?”  และคุณจอห์นตอบได้น่าสนใจดังนี้ค่ะ

ไม่มีการนับถือความอาวุโส รุ่นพี่รุ่นน้อง พูดอย่างง่ายก็คือว่า วัดกันด้วยความสามารถ หากเด็กเขามีความสามารถเด่นขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องยอมรับ ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า แต่ทำงานในสาขานี้มานานกว่า หากคนที่เพิ่งเริ่มงานใหม่แต่อายุมากกว่า เขามักจะให้ความเคารพกับคนที่มีอายุการทำงานมานานกว่า หมายความว่าอายุจริงของบุคคลนั้นๆไม่ได้มีผลในการทำงาน แต่เป็นเรื่องของอายุการทำงานที่ควรจะได้รับความเคารพจากคนอื่น (ส่วนตัวข้อนี้ นอกจากวัฒนธรรมแล้วเรายังมองว่า ‘ภาษา’ คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดระบบอาวุโสในประเทศไทยนะ เนื่องจากภาษาไทยเรามีคำว่าพี่ ป้า น้า อา ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเคารพในเรื่องของอายุ แต่ภาษาอังกฤษมีแค่ I กับ You เราเชื่อว่าภาษาถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดระบบอาวุโสขึ้นแบบนี้ มันฝังอยู่ในรากเหง้าของเราไปแล้ว ซึ่งมันไม่ได้มีแต่ข้อเสียนะ ข้อดีมันก็มีเยอะเหมือนกัน)

ความเกลียดชังคนเอเชีย?

คุณจอห์นบอกว่าไม่ค่อยมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลีย อาจด้วยเพราะประเทศนี้ค่อนข้างที่จะผสมปนเปกันด้วยหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม พวกเขาจึงค่อนข้างชินกับการอยู่ร่วมกับคนเอเชีย (ความคิดเห็นส่วนตัว : แต่อเมริกานี่ยิ่งกว่าการผสมหลายเชื้อชาติอีกนะ มันคือ Melting pot แต่ทำไมยังมีการเกลียดคนเอเชียอยู่นะ?)


จากนั้นช่วง 16.00 – 16.30น. เป็นช่วงเวลาของการตอบคำถาม เราไม่ได้อยู่ในช่วง 30 นาทีสุดท้ายนี้เนื่องจากติดประชุม เสียดายอยู่เหมือนกันค่ะ (จริงๆคือในช่วงที่กำลังฟังสัมมนาออนไลน์นี้ เราทำงานไปด้วย ฟังไปด้วย และยังแข่งตอบคำถามจนได้รางวัลมาอีกด้วย .ฮา.)

แต่ช่วงต้นของงานสมัมนาเราส่งคำถามไปทั้งหมด 3 คำถาม แต่คำถามของเราไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาในช่วงนั้น เพราะส่วนใหญ่แล้วอาจารย์จะรวบรวมคำถามจากนักศึกษามาเพื่อมาพูดคุยกับคุณจอห์นโดยเฉพาะ อันนี้เราเข้าใจดี แต่เราไม่รู้ว่าคำถามของเราได้เอาไปถามตอบในช่วงท้ายหรือเปล่า คำถามของเราก็เช่น ‘วีซ่าหลังเรียนจบป.โทได้สามปีแล้วจริงหรือ หรือเป็นแค่ Media release?’ ข้อต่อมาคือฝากถามคุณจอห์นว่า ‘ทำไมถึงบอกว่าการได้ PR ในสมัยก่อนยากกว่าในสมัยนี้? อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คุณจอห์นคิดแบบนี้?’ ข้อสามจำไม่ได้…อ่ะนะ

สำหรับเราๆคิดว่างานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้เป็นงานที่ดีมากๆงานหนึ่งเลยค่ะ เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความใจกว้างของมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะเค้าไม่ได้จำกัดแค่สำหรับนักศึกษาของเขาเท่านั้น แต่ยังให้คนนอกอย่างเราๆที่ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยนี้เข้าร่วมฟังด้วย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย ตรงนี้เราต้องขอขอบคุณคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลมากๆค่ะ

เราได้เห็นความน่ารักของอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ที่ทำให้เกิดงานสัมนานี้ขึ้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้นที่งานนี้เกิดขึ้นได้เพราะอาจารย์อยากให้ลูกศิษย์ได้คำตอบได้เห็นมุมมองจากผู้รู้จริง จึงเชิญคุณจอห์นมาเป็นวิทยากรในวันนี้ นั่นหมายความว่างานนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากอาจารย์ไม่สนับสนุนลูกศิษย์

งานสัมมนาในครั้งนี้เหมาะกับคนที่ยังไม่รู้ข้อมูลอะไรมากในเรื่องของการโยกย้ายถิ่นฐานไปประเทศออสเตรเลีย เสมือนกับวิชาโยกย้ายไปออสเตรเลีย 101 เนื้อหาในงานค่อนข้างจะเป็นอะไรที่เป็นพื้นฐาน สามารถหาข้อมูลพวกนี้ได้ตามอินเตอร์เน็ตทั่วไปได้ด้วยตัวเอง อย่างเราที่หาข้อมูลมาเป็นปีๆผ่านการทำSkill accessment อะไรมาหมดแล้ว เราจึงมองว่างานในครั้งนี้จึงเหมาะกับคนที่ไม่มีข้อมูลอะไรอยู่ในมือเลย แต่งานนี้คุณจะได้รับข้อมูลจากผู้รู้จริง

ขอจบบทความนี้ด้วยของรางวัลที่ได้รับจากทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ของส่งให้มาเร็วมาก งานสัมมนามีขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ อีก 2 วันได้รับของรางวัลส่งถึงบ้านเลย ขอบคุณสำหรับงานสัมมนาดีๆ ในครั้งนี้ค่ะ


รูปจาก https://la.mahidol.ac.th/th/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD-%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%93/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *